นโยบายหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละคน พูดถึงเรื่องเพศมากน้อยแค่ไหน?
‘เคท ครั้งพิบูลย์’ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์ และนักสังคมสงเคราะห์ที่ติดตามประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมาตลอด กล่าวถึงนโยบายหาเสียงของผู้สมัครแต่ละคนว่า ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงประเด็นเรื่องเพศสภาพและความเท่าเทียมทางเพศมากนัก
“เราไม่ค่อยเห็นนโยบายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ของใครพูดถึงเรื่องเพศเลย อาจเพราะมองว่า มีเรื่องที่ควรทำก่อน ดังนั้น เรื่องเพศจึงถูกมองเห็นได้ยาก และถูกยกขึ้นมาพูดน้อย”
อ.เคทเล่าว่า ตนเคยอยู่ในช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อสิบกว่าปีก่อน ซึ่งผู้สมัครจากตัวแทนพรรคและในนามอิสระต่างก็พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดถึงความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย
เธอยังมองมองว่า กทม.เป็นที่ที่รวมหลากหลาย ด้วยประชากรที่มีจำนวนเยอะ กทม.จึงเหมือนเป็น hub ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ จะเห็นได้ว่า มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่างๆ มากมายในเมืองนี้
“ในประเทศที่พัฒนาแล้ว คนที่เป็น LGBT เขาจะเลือกไปในพื้นที่ที่มีความปลอดภัย เช่น เพื่อนเราที่เป็น LGBT ในต่างประเทศ อาจจะไม่ไปเที่ยวรัสเซีย เพราะเขารู้อยู่แล้วว่ากฎหมายมีการเอาผิด ลงโทษ เพราะงั้น กลุ่มประเทศแบบนั้นเขาก็ไม่อยากไปสนับสนุน จะเห็นว่ามันมีการลงทุน แล้วคนเขาจะลงทุนแบบไหน ดังนั้น การออกแบบ กทม.ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยกับความหลากหลายทางเพศ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ”
ไม่เพียงเท่านั้น อ.เคทยังกล่าวว่า กทม.ถูกเลือกเป็น 4 เมืองหลักของโลกที่ทำงานด้านการลดการติดเชื้อ HIV และการติดต่อของโรคทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเธอมองว่า การที่ กทม.ถูกยกให้เป็นเมืองใหญ่นี้ แปลว่า เขามองเห็นศักยภาพของ กทม.ว่าจะเป็น hub ในเรื่องใดได้บ้าง
“ถ้าคนที่เขาสนใจทำเรื่องนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเพศใน กทม. เขาอยากเป็นผู้ว่าฯ อาจจะต้องทำการบ้านในเรื่องนี้ให้มากขึ้น แต่การบ้านไม่ต้องไปหาอะไรเลย ข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ในสำนักของ กทม. มันบอกอยู่แล้วว่า การทำงานที่ผ่านมาในเรื่องของสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศใน กทม. มีโครงการไหน หรือว่าทำอะไรได้บ้าง
“เพราะฉะนั้น มันไม่ได้เริ่มใหม่ เพียงแต่จะต้องทำให้เห็นว่า เรื่องนี้จะต้องไม่ถูกนำมาเป็น gimmick ของการพูดถึงนโยบาย แต่ต้องพูดออกมาชัดๆ เลยว่า หากทำงานกับกลุ่ม LGBT หรือการทำงานเพื่อการเสมอภาคความเท่าเทียมทางเพศ ควรจะออกแบบมาเป็นแบบไหน”
อย่างไรก็ดี การออกแบบนโยบายในเรื่องของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอย่างจริงจังนั้น ก็ต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบด้วย ซึ่ง อ.เคทมองว่า การออกแบบนโยบายนี้ ต้องไม่ใช่การสร้างสิ่งก่อสร้าง เช่น ลานออกกำลังกายสำหรับผู้หญิง แต่ต้องเป็นการปรับเปลี่ยนในเรื่องของนโยบายให้มากขึ้นด้วย
“เรามี shelter สำหรับผู้หญิงและเด็กหรือเปล่า กทม.ลงทุนกับด้านนี้มากน้อยแค่ไหน หรือ กทม.จะลงทุนทางด้านสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์เกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพยังไงบ้าง สำนักอนามัยลงทุนมากน้อยแค่ไหน งบประมาณที่ใช้ที่คำนึงถึงความเป็นเพศวิถี เพศสภาพ เป็นยังไง เรื่องนี้ต่างหากที่คาดหวังว่าจะต้องเปลี่ยนแปลง” อ.เคทกล่าว
- ติดตามซีรีส์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของ The MATTER ได้ที่: https://thematter.co/category/bkk65
#BKK65 #Quote #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #ความหลากหลายทางเพศ #TheMATTER