“ที่ไม่มีที่ไม่เห็น ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีอยู่” คือข้อสังเกตถึงประชากรคนพิการ ของ หนู–นลัทพร ไกรฤกษ์ บรรณาธิการ ThisAble.me และชาว กทม. คนหนึ่งที่ต้องใช้ชีวิตกับความพิการบนรถเข็นวีลแชร์
และการที่คนพิการไม่อยู่ในสายตาคนในสังคมนั่นแหละ คือข้อบ่งชี้ว่าสภาพแวดล้อมในเมืองไม่เอื้อกับคนพิการ เพราะเมืองที่เป็นอยู่ทำให้พวกเขาไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตหรือมีส่วนร่วมกับสังคมเช่นเดียวกับคนทั่วไป – หรือแม้แต่ช่วยเหลือตัวเองได้
The MATTER ถามนลัทพรว่าอะไรคือปัญหาหลักๆ ที่คนพิการต้องเจอในการใช้ชีวิตที่ กทม. และก็คงไม่น่าแปลกใจถ้าเธอจะตอบว่า เรื่องใหญ่ที่ทุกคนต้องเจอก็คือเรื่องของ ‘การเดินทาง’
“คนพิการใน กทม. ถึงแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ที่เรียกได้ว่าการเดินทางค่อนข้างครบสมบูรณ์กว่าที่อื่นๆ ในประเทศไทย แต่คนพิการเองหลายคนก็ยังไม่สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะหรือเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางสภาพแวดล้อมได้เหมือนกับคนอื่นๆ ในสังคม”
เธออธิบายว่า คนพิการมีตัวเลือกการเดินทางอย่างจำกัดจำเขี่ย และมักจะต้องลงเอยด้วยการนั่งแท็กซี่ หรือหากเดินทางบนฟุตบาท ก็ต้องเจอกับอุปสรรคเต็มไปหมด เช่น เสาไฟฟ้า ป้อมตำรวจ หรือต้นไม้ – หรือที่ทันยุคทันสมัยที่สุดก็คือ ‘ป้ายหาเสียง’ ที่ไม่ว่าจะเป็นป้ายรูปแบบใด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นอุปสรรค โดยเฉพาะกับคนตาบอด
นั่นทำให้ยิ่งตอกย้ำว่า เมืองที่เป็นอยู่ไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตของคนพิการ เพราะคนพิการยังจำเป็นต้องขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา “ตอนนี้เรายังต้องใช้ชีวิตผ่านการพึ่งพาคนอื่น เช่น จะไปไหนทีก็ต้องไหว้วานคนแถวนั้น ช่วยยก ช่วยหิ้ว พาข้ามสะพานลอย
“แต่ในแง่หนึ่ง การจะมีชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้และรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองได้ เราต้องสามารถช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เราไม่มีวันรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมได้ตราบใดที่เรายังต้องพึ่งพาคนอื่นทุกๆ วันหรือทุกๆ ครั้งที่เราออกจากบ้าน” เธอว่า
นอกจากเรื่องของความปลอดภัยและการพึ่งพาตัวเอง อีกปัจจัยหนึ่งที่นลัทพรมองว่าสำคัญมาก และสามารถใช้บอกได้ว่าเมืองที่เป็นอยู่เหมาะกับการใช้ชีวิตของคนพิการแล้วหรือยัง ก็คือ การออกแบบเมืองที่คำนึงถึง ‘ความเป็นส่วนหนึ่ง’
ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยก็คือทางขึ้นอาคารของคนพิการที่มักจะสร้างแยกออกมาจากทางปกติ เธอเล่าจากประสบการณ์ตรงว่า “ไม่ว่าเราจะเดินอยู่บนฟุตบาท หรือจะขึ้นอาคารต่างๆ ทําไมทุกๆ คนสามารถเดินขึ้นอาคารข้างหน้าได้เลย แต่ว่าสุดท้ายแล้ว เราเองกลับไม่มีทางขึ้นตรงนั้น เราเองกลับต้องไปอ้อมข้างหลัง อ้อมไปแล้วสามด้านเพื่อที่จะไปขึ้นตึกเดียวกัน”
The MATTER ถามต่อว่า แล้วหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะผู้ว่าฯ กทม. จะแก้ปัญหานี้อย่างไรได้บ้าง ก่อนที่นลัทพรจะตอบอย่างเรียบง่ายว่า “จริงๆ ทําให้ได้เท่าที่หาเสียงมาก็น่าจะดีขึ้นมากแล้ว” ซึ่งเธอก็ชี้ว่า ช่วงนี้ก็มีผู้สมัครอยู่หลายคนที่ขายนโยบายเรื่องสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเข้าถึงได้
เธออธิบายเพิ่มเติมว่า “อันดับแรกเลย ถ้าเกิดเราทําให้สภาพแวดล้อมของเราทุกคนมีโอกาสเท่ากันในการที่จะเข้าถึงมัน และไม่ได้รู้สึกแปลกแยก ไม่ได้รู้สึกว่าเขาถูกกีดกันออก โอกาสหลายๆ ด้านในชีวิตของคนพิการจะเพิ่มขึ้นมากๆ
“สุดท้ายแล้ว ถ้าสภาพแวดล้อมมันเอื้อ คนพิการเขาก็จะมีโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมมากขึ้น เช่น เขาสามารถไปซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านได้ ออกไปทําผม ออกไปทําเล็บ ออกไปเล่นกีฬา ออกไปสวนสาธารณะ ออกไปโรงเรียน หรือแม้แต่ออกไปทํางาน
“มันจะทําให้คนในสังคมเองก็เห็นมากขึ้นด้วยว่า เออ แถวบ้านเรามีคนพิการด้วย ไม่ใช่ว่า คนพิการอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ คนพิการไม่เห็นจะมีเลย งั้นก็ไม่ต้องทําก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ว่าฯ คนใหม่เข้ามา การทําให้สภาพแวดล้อมนี้มันเอื้อกับคนทุกคนจริงๆ น่าจะเป็นประเด็นแรกที่ควรทำให้เกิดขึ้นได้แล้ว”
- ติดตามซีรีส์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของ The MATTER ได้ที่: https://thematter.co/category/bkk65
- ติดตามดีเบทโค้งสุดท้ายผู้ว่าฯ กทม. จาก The MATTER และ Jomquan ได้ในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป สามารถรับชมผ่านช่องทาง The MATTER, Jomquan และ LINE TODAY
#BKK65 #Quote #เลือกตั้งผู้ว่ากทม #คนพิการ #TheMATTER