หลังจากที่ในช่วงเดือนที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลได้แจ้งปิดเนื้อหา และโพสต์ต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม และอ้างว่าผิดกฎหมายไทย ซึ่งรวมถึงกลุ่มรอยัลลิสต์มาเก็ตเพลง ในวันนี้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ก็ได้เดินหน้าเข้าแจ้งความกับทาง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) อีกครั้ง ต่อ 3 แพลตฟอร์มออนไลน์ และกับ 5 ราย ในข้อหาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย
โดยพุทธิพงษ์ ได้กล่าวถึงการดำเนินการก่อนหน้านี้ ที่ได้มีการดำเนินตามกฎหมาย เมื่อมีคำสั่งศาล ที่ส่งให้ทุกแพลตฟอร์ม ดำเนินการตามมาตรา 27 และให้เวลา 15 วันในการลบข้อมูลต่างๆ ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งก็ได้ทำจดหมายเตือนในหลายแพลตฟอร์มไป เพื่อให้แพลตฟอร์มได้ทราบ และลบตามกฎหมายไทย แต่จนถึงวันนี้ บางแพลตฟอร์มก็ให้ความร่วมมือ แต่ก็ยังลบไม่ครบถ้วน จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายที่จริงจัง
“เป็นครั้งแรกที่ใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ไม่ดำเนินการตามมาตราที่ 27 กับแพลตฟอร์มออนไลน์” พุทธิพงษ์ระบุ โดย 3 แพลตฟอร์มนั้นได้แก่ เฟซบุ๊ก ซึ่งทำการแจ้งลบไปทั้งหมด 661 ยูอาร์แอล ได้มีการปิดแล้ว 225 ยูอาร์แอล และยังคงเหลือ 436 ยูอาร์แอล แพลตฟอร์มที่ 2 คือ ยูทูบ มีทั้งหมด 289 ยูอาร์แอล ซึ่งเพิ่งปิดให้หมดในเมื่อคืนที่ผ่านมา (23 กันยา) และแพลตฟอร์มที่ 3 คือ ทวิตเตอร์ มีทั้งหมด 69 ยูอาร์แอล ปิดไปแล้ว 5 ยูอาร์แอล ยังเหลืออีก 64 ยูอาร์แอล และแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก 1 รายการคืออินสตราแกรม ซึ่งถือว่ารวมอยู่กับเฟซบุ๊กด้วย
รายงานทั้งหมดนั้น ทางกระทรวงดีอีเอสจะส่งให้เป็นหน้าที่ของทาง ปอท.ที่จะดำเนินงานต่อไป ซึ่งนอกจากนี้แล้ว ยังมีอีกกว่า 3,000 รายการ ที่เกี่ยวกับข้อมูลของการพนัน ผิดลิขสิทธิ์ หมิ่นสถาบันฯ และอื่นๆ อีก ที่จะดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้แพลตฟอร์มต่างๆ ก็จะมีระยะเวลา 15 วันในการดำเนินการปิด ซึ่งหากไม่ปิดในระยะเวลาที่กำหนดก็อาจนำมาสู่การแจ้งความเช่นวันนี้ได้
ไม่เพียงแค่ทางแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ถูกแจ้งความ ในวันนี้ รมว.ดีอีเอส ยังได้เข้ารวบรวมข้อมูลของ 5 ราย จากแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก 2 ราย และทวิตเตอร์ 3 ราย ซึ่งโพสต์เนื้อหาหมิ่นสถาบันหลักของชาติ โดย 5 รายเป็นบุคคล และใน 3 รายนี้ เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่มีชื่อเสียงด้วย จึงได้แจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง
พุทธิพงษ์ย้ำว่า แม้แพลตฟอร์มออนไลน์จะเป็นบริษัทต่างชาติ แต่เรื่องเกิดที่ประเทศไทย จึงต้องใช้กฎหมายไทย ซึ่งหากดำเนินงานในไทยแล้ว ก็ต้องดำเนินตาม และเคารพตามกฎหมายไทย โดยการแจ้งข้อหาไม่ใช่การเลือกปฏิบัติด้วย ซึ่งหากอะไรที่ทำให้เกิดความแตกแยก เสียหาย โดยเฉพาะข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องทำตามหน้าที่ เพื่อจะอยู่กันอย่างสงบ และควบคุมไม่ให้สร้างความเสียหายต่อสังคมโดยรวม ทั้งยังเป็นการทำงานด้วยความระมัดระวัง และไม่ได้ล่วงเกินสิทธิ ไม่ได้ปิดกั้นการเสพข้อมูลข่าวสาร
#Brief #TheMATTER