การจดทะเบียนคู่ชีวิตเป็นที่พูดถึงในสังคมไทยมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เช่นเดียวกันกับสังคมคาทอลิกทั่วโลกที่มีศาสนิกกว่า 1.2 พันล้านคน ข้อถกเถียงสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในการคัดค้านการจดทะเบียนคู่ชีวิตไปจนถึงการแต่งงานในเพศเดียวกันนั้นมักตกเป็นเรื่องของ ‘ความบาป’ ตามศาสนาบัญญัติ
แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าประมุขสูงสุดแห่งศาสนจักรคาทอลิกอย่างพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าตนสนับสนุนการจดทะเบียนคู่ชีวิตในเพศเดียวกัน โดยพระสันตะปาปาได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสารคดี ‘Francesco’ ที่ออกอากาศในโรมเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า “สิ่งที่เราควรทำคือการร่างกฎหมายคู่ชีวิต ซึ่งจะทำให้พวกเขาถูกครอบคลุมตามกฎหมาย”
“คนรักร่วมเพศมีสิทธิที่พวกเขาจะได้อยู่ในครอบครัว พวกเขาล้วนเป็นบุตรของพระเจ้า ไม่ควรมีใครถูกขับไล่หรือถูกทำให้ทุกข์โศกเพียงแค่พวกเขาเป็นคนรักร่วมเพศ” เป็นคำสัมภาษณ์ของพระสันตะปาปาที่ทรงตระหนักถึงปัญหาของการที่กลุ่ม LGBTQ+ ถูกไล่ออกจากบ้าน
ในการสัมภาษณ์ครั้งอดีต พระสันตะปาปาไม่ได้ทรงพูดอะไรใดๆ ที่เป็นการต่อต้านการจดทะเบียนคู่ชีวิต และนี่ถือเป็นครั้งแรกที่ทรงให้สัมภาษณ์สนับสนุนการจดทะเบียนคู่ชีวิตอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผยที่สุดนับตั้งแต่ทรงได้รับเลือกขึ้นมาเป็นพระสันตะปาปาใน ค.ศ. 2013
พระสันตะปาปาฟรานซินทรงมีท่าทีที่เป็นบวกต่อกลุ่ม LGBTQ+ ตั้งแต่ทรงขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประมุขแห่งศาสนจักรคาทอลิก เมื่อ ค.ศ.2013 ทรงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากทรงถูกตั้งคำถามในกรณีนักบวชที่เป็นเกย์ พระสันตะปาปาทรงตอบว่า “หากเขาเป็นเกย์และเป็นผู้ไขว่คว้าหาองค์พระผู้เป็นเจ้าและเป็นผู้มีน้ำจิตน้ำใจที่ดี พ่อ(พระสันตะปาปา)เป็นใครที่จะไปตัดสินพวกเขา”
โดยในปี ค.ศ.2016 ทรงให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “คนทุกคนไม่ควรถูกนิยามตามรสนิยมทางเพศ พวกเราอย่าลืมสิว่า พระเจ้าทรงรักมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทุกสิ่ง และเราได้รับพระคุณความรักนับอนันต์จากพระองค์”
อย่างไรก็ดี ท่าทีของพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงทำให้ศาสนจักรคาทอลิกเป็นมิตรต่อกลุ่ม LGBTQ+ มากยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกันกับในยุคของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ในปี 2005 ที่ทรงเห็นว่ากลุ่ม LGBTQ+ ‘เป็นกลุ่มพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติอันเป็นบาปอย่างร้ายแรง’
การรักร่วมเพศนับเป็นบาปหนึ่งในคริสตศาสนา โดยมักถูกยกจากกรณีในพระคัมภีร์ที่พระเจ้าทรงทำลายเมืองโสโดมและโกโมราห์ ซึ่งมีชายหนุ่มและแก่ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับทูตสวรรค์ การร่วมเพศทางทวารหนัก (sodomy) ยังเป็นคำศัพท์เรียกมาจากชื่อเมืองดังกล่าวอีกด้วย
ศาสนจักรคาทอลิกพยายามปรับตัวให้เท่าทันกับโลกยุคสมัยใหม่หลังจากที่รัฐแยกตัวออกจากศาสนจักร ความเชื่อความศรัทธาและความต่างทางศาสนายังคงดำเนินต่อไปบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน การให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ของพระสันตะปาปาฟรานซิสถือได้ว่าเป็นสัญญาณบวกมากที่สุดของศาสจักรคาทอลิกต่อกลุ่ม LGBTQ+ เท่าที่เคยมีมา
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2013/07/30/world/europe/pope-francis-gay-priests.html
https://www.ncronline.org/news/vatican/francis-explains-who-am-i-judge
#Brief #TheMATTER