ระหว่าง 26-27 ตุลาคม พ.ศ.2563 จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา (หมายถึง ส.ส. และ ส.ว.จะมาประชุมร่วมกัน) เพื่ออภิปรายทั่วไป ในญัตติที่เสนอรัฐบาลเพื่อฟังความเห็นจากรัฐสภา
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ประกาศไว้ในแถลงการณ์ ‘ถอยคนละก้าว’ ท่ามกลางปฏิกิริยาที่หลากหลาย เมื่อหลายๆ คนได้เห็นประเด็นที่รัฐบาลกำหนด 3 หัวข้อ ในการรับฟังความเห็น
1. – สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในไทย ซึ่งการชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ ประกอบกับมีฝนตกและน้ำท่วมในหลายจังหวัด อาจกระทบต่อการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้ และอาจกระทบต่อการผ่อนคลายมาตรการ ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้
2. – การชุมนุมที่กระทบต่อขบวนเสด็จ และค้างคืนหน้าทำเนียบรัฐบาล ใกล้เขตพระราชฐานและเส้นทางเสด็จในวันถัดๆ มา นำไปสู่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ กทม.
3. – การชุมนุมที่มีการจาบจ้วงผู้อื่น ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์อันเป็นทรัพย์สินของราชการ และก่อความชุลมุนวุ่นวาย ที่ไม่อยู่ในความมุ่งหมายเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าวิตกว่าอาจมีบางฝ่ายแฝงตัวมาใช้อาวุธ หรืออาจมีฝ่ายเห็นต่างจัดการชุมนุมตอบโต้ จนเกิดการปะทะกลายเป็นเหตุจลาจลได้
– ดูประเด็นที่ พล.อ.ประยุทธ์เขียนมาขอรับฟังความเห็นจากที่ประชุมรัฐสภา เนื้อหาจะวกไปวนมาหน่อย ชวนอ่านกันดู: http://edoc.parliament.go.th/getfile.aspx?id=729179&file=%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%99.pdf&download=1
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำฝ่ายค้านบอกว่า พอเห็นประเด็นที่รัฐบาลตั้งมารับฟังความเห็น ต้องบอกว่า “ไม่มีหวัง” ที่สำคัญ การที่กำหนดเวลาอภิปราย 23 ชั่วโมง แบ่งเป็น ครม. 5 ชั่วโมง ส.ส.รัฐบาล 5 ชั่วโมง ส.ส.ฝ่ายค้าน 5 ชั่วโมง และ ส.ว. 5 ชั่วโมง พูดง่ายๆ คือให้เวลาฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 15 ชั่วโมง
“ฝ่ายค้านไม่จำเป็นต้องพูดตามญัตติเป๊ะ แต่จะบอกว่ามูลเหตุของการประท้วงของผู้ชุมนุม เกิดจากความพยายามสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่านกลไกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าจะแก้ไขที่ต้นเหตุคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก” นพ.ชลน่านกล่าว
สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เสนอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในฐานะ ‘ประชาชนที่เป็นห่วงต่ออนาคตประเทศไทย’ ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ดังนี้
1.อย่าไปคิดว่าความขัดแย้งทุกวันนี้มาไกลจนเลยจุดที่สามารถพูดคุย หรือหาข้อตกลงร่วมกันได้แล้ว
2.ควรตระหนักว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาความแตกต่างทางความคิดได้ นอกจากจะพูดคุยกัน โดยเฉพาะผ่านกระบวนการรัฐสภา และให้บทบาทหลักแก่ ส.ส.ในฐานะตัวแทนที่ชอบธรรมจากประชาชน และหากกลไกรัฐสภาไม่สำเร็จก็อาจจะทำประชามติ
3.เปิดกลไกพูดคุยไม่เป็นทางกลางควบคู่ไปด้วย โดยหาคนกลางที่ฝ่ายต่างๆ ยอมรับ
4.สร้างบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจ เช่น รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมด้วข้อหาการเมืองทั้งหมดออกมา ทุกฝ่ายควรช่วยกันป้องกันความรุนแรงในทุกรูปแบบ ฯลฯ
5.ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ไม่ควรจะรุกไล่อีกฝ่ายจนกลายเป็นผู้แพ้ไปทั้งหมด และอีกฝ่ายถ้าอยากเปลี่ยนแปลงก็ทำให้ทำผ่านกลไกรัฐสภาหรือประชามติ
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.matichon.co.th/politics/news_2411492
https://www.facebook.com/somkiat.tangkitvanich/posts/10224737912257605
#Brief #TheMATTER