ท่ามกลางกระแส #ไม่รับปริญญา #บัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎร จากการรณรงค์ไม่เข้ารับปริญญาในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมีการเปิดเผยข้อมูลจากประชาไทว่า มีบัณฑิตไม่เข้าร่วมรับปริญญาในครั้งนี้จำนวนกว่า 51 เปอร์เซ็นต์
.
ทั้งนี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกอินเตอร์เน็ตในวงกว้าง ว่าในงานรับปริญญาเมื่อวานนี้และวันนี้เอง (30-31 ต.ค.) มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบตั้งจุดคัดกรองตรวจบัตรประชาชนของคนที่จะเข้าร่วมงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำมาซึ่งคำถามว่าการตรวจบัตรประชาชนในครั้งนี้ ‘ตรวจไปเพื่ออะไร?’
.
การตรวจบัตรประชาชนดังกล่าวได้สร้างความสงสัยให้กับประชาชน จากคำกล่าวอ้างของแหล่งข่าวชี้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความพยายามในการคัดกรองไม่ให้บุคคลใดๆ เข้ามาทำกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ของประชาชน The MATTER จึงขอพาทุกคนไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่ามีอะไรเกิดขึ้นในงานรับปริญญาที่ธรรมศาสตร์
.
1. เมื่อวานนี้ บัญชีทวิตเตอร์ของ iLaw ได้เผยแพร่รูปภาพคล้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบจาก สน.บึงกุ่ม และตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กำลังใช้เครื่องเสียบบัตรประชาชนเพื่อตรวจหาข้อมูลส่วนบุคคลของคนที่เดินทางมาเข้าร่วมงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมรายงานว่าการตรวจดังกล่าวทำขึ้นเพื่อคัดกรองผู้มาร่วมงาน โดยหากพบว่าผู้มาร่วมงานคนใดมีข้อน่าสงสัยว่าจะมาทำกิจกรรมทางการเมือง เจ้าหน้าที่จะขอให้ผู้เข้าร่วมงานคนนั้นรับรองว่ามาร่วมงานจริง จึงจะให้เข้างานได้
.
2. iLaw ยังรายงานเพิ่มเติมว่า กรณีของบัณฑิตที่ถูกตรวจบัตรประชาชนในบริเวณประตูท่าพระจันทร์นั้น หากบัณฑิตคนใดไม่ได้มีชื่อในการเข้าร่วมพิธิพระราชทานปริญญาบัตร เครื่องตรวจบัตรประชาชนจะขึ้นแถบสีม่วง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำการบันทึกภาพบัณฑิตเก็บเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
ขั้นตอนทั้งหมดในการตรวจบัตรประชาชน บันทึกข้อมูล จนกระทั่งบันทึกภาพบัณฑิตที่ไม่ได้มีรายชื่อเข้าร่วมงานรับปริญญานั้น บัตรประชาชนของผู้ถูกตรวจจะอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดเวลา โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที
.
3. การคัดกรองของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบดังกล่าวถูกทำโดยแบ่งคนเข้าร่วมงานออกเป็นสองแถว แถวแรกเป็นผู้มีบัตรประชาชนพกติดตัว แถวสองเป็นผู้ไม่มีบัตรประชาชนพกติดตัว โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ใช้ใบขับขี่ในการตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลแทน
.
4. มีผู้ถูกตรวจบัตรประชาชนถามเจ้าหน้าที่ว่า “ทำไปเพื่ออะไร” โดยเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลว่า “ไม่สามารถเปิดเผยได้”
.
5. ยังมีการส่งต่อข้อมูลบนทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กอีกว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แปะสติกเกอร์สีชมพูให้แก่คนเข้าร่วมงานที่ถูกตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่ามีประวัติอาการทางจิตเวช โดยอ้างว่าผู้ป่วยจิตเวช “อาจจะอาละวาดเมื่อไหร่ก็ได้” ทั้งนี้ ยังมีข้อสงสัยจากการตรวจดังกล่าวว่าเจ้าหน้าที่มีการประกาศให้ผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาได้รู้ อีกทั้งข้อสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจมีข้อมูลของผู้ป่วยจิตเวชอยู่ในระบบได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ข้อมูลของผู้ป่วยต้องถูกเก็บเป็นความลับ
.
6. มีการตั้งคำถามต่อการเปิดเผยข้อมูลของบัณฑิตที่เข้าร่วมงานรับปริญญาต่อฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบข้อมูลการซ้อมรับปริญญาของบัณฑิต ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของบัณฑิตหรือไม่ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปฏิเสธว่า ไม่เคยให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต่างจากแหล่งข้อมูลของ iLaw ที่เล่าว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพูดว่า “มหาวิทยาลัยเป็นคนส่งชื่อมาให้”
.
7. แกนนำบัณฑิตธรรมศาสตร์ของราษฎรยังได้เปิดเผยแก่อีกว่า ในวันรับปริญญา เขาได้เดินทางเข้าธรรมศาสตร์ผ่านประตูท่าพระอาทิตย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอตรวจบัตร หลังจากมีการเสียบบัตรแล้ว เครื่องตรวจบัตรกลับขึ้นแถบสีแดง ตำรวจจึงได้บอกแก่เจ้าของบัตรว่าบัตรประชาชนมีปัญหา ซึ่งเมื่อเขาเปลี่ยนใจจะไม่เข้าร่วมงานและขอบัตรประชาชนคืน แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธที่จะคืนบัตร
.
8. เขายังได้เปิดเผยอีกว่า เขาเห็นข้อความบนจอคอมพิวเตอร์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “มีการรณรงค์ไม่รับพระราชทานปริญญาบัตร” อีกช่องเห็นไม่ชัดแต่ยาวประมาณสองถึงสามบรรทัด ว่า “มีทัศนคติทางการเมือง…” โดยหลังจากนั้นเจ้าหน้าตำรวจจึงได้ยึดบัตรประชาชนของเขาไป
ก่อนที่จะมีการเจรจา และเรียกเพื่อนมายังจุดตรวจเพื่อเป็นพยาน ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยอมคืนบัตร และติดสติกเกรอ์เข้าร่วมงานให้ แต่ทางเจ้าหน้าที่เองก็ปฏิเสธจะพูดคุยกับอาจารณ์ในคณะที่ขอพูดคุยด้วย
.
9. ต่อมา คณะกรรมการบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ตั้งคำถามและแสดงความกังวลต่อกรณีดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีใจความว่า
– การสอบถามถึงเหตุและผลของการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่เข้าร่วมและไม่เข้าร่วมงานรับปริญญาแก่หน่วยงานภายนอก
– ผู้รับผิดชอบในการจัดเก็บข้อมูลทั้งข้อมูลลายลักษณ์อักษร ภาพถ่าย พร้อมทั้งนโยบายและระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลเหล่านี้ว่าจะกระทำอย่างไร
– ความกังวลถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2561และขอเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยชี้แจงต่อคณะกรรมการบัณฑิตฯ
.
10. ล่าสุดองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงแถลงข้อเรียกร้องต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยผ่านการตั้งคำถาม 6 ข้อ ดังนี้ เช่น
– ได้ให้ข้อมูลของบัณฑิตหรือนักศึกษากับหน่วยงานใดไปแล้วบ้าง
– มีการให้ข้อมูลส่วนใดออกไปบ้าง
– ทราบหรือไม่ว่าหน่วยงานภายนอกนำข้อมูลส่วนบุคคลของนักศึกษาไปใช้งานอย่างไรบ้าง หากทราบให้ชี้แจงอย่างละเอียด
– มีความพยายามที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของนักศึกษาภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบันบ้างหรือไม่
– ทำไมจึงปล่อยให้มีหน่วยงานภายนอกเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ที่จะเข้ามาในสถานศึกษาโดยที่ไม่มีการชี้แจงหรือบอกล่วงหน้าอย่างเป็นทางการแก่นักศึกษาก่อน
– มหาวิทยาลัยยังมีจุดยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยและอยู่ข้างนักศึกษาอยู่หรือไม่
.
11. The MATTER ได้สอบถามเจ้าหน้าตำรวจบริเวณประตูท่าพระอาทิตย์ได้ความว่า การตรวจบัตรประชาชนเป็นไปตามระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อตรวจดูประวัติอาชญากรรม ในกรณีผู้ที่ผู้เข้างานไม่ได้พกบัตรประชาชนจะต้องกรอกข้อมุลเข้าระบบ ส่วนใครที่พกบัตรประชาชนมาก็สามารถเข้าระบบตรวจสอบได้เลย ทั้งนี้ หากผู้ถูกตรวจสอบมีหมายจับ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวได้เลย รวมไปถึงมีการตรวจอาวุธด้วย
.
โดยยังพบว่า ได้มีการตรวจบัตรทั้งบริเวณประตูท่าพระอาทิตย์ และประตูท่าพระจันทร์ ซึ่งส่งผลให้คิวของประชาชนที่ต้องการเข้าร่วมงานรับปริญญานี้มีแถวที่ยาวออกไปนอกมหาวิทยาลัย
.
12. ทั้งนี้ ยังไม่มีแถลงการณ์ที่ชัดเจนว่าการตรวจบัตรประชาชนของบัณฑิตและผู้เข้าร่วมงานรับปริญญาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นกระทำไปเพื่อจุดประสงค์ใด โดยข้อมูลจาก iLaw ระบุว่าใน พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ระบุว่ากฎหมายให้อำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจในตรวจการพกบัตรประชาชนเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจถ่ายรูปบัตรประชาชน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถยึดบัตรประชาชนได้ เพราะถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หากพบเห็นการกระทำในลักษณะดังกล่าว สามารถถามเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เลยว่าใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายข้อใด ในการถ่ายรูปบัตรประชาชน หรือยึดบัตรประชาชนของเราไป
.
การตรวจบัตรในครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามและประเด็นที่ถกเถียงกัน ถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูล และข้อมูลทางการแพทย์ ว่าการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ขัดต่อ พรบ.สุขภาพจิต ในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยหรือไม่ ? ไปถึงระบบการทำงานในการตรวจบัตรครั้งนี้ ที่มีการใช้ไมโครชิฟจากบัตรประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการใช้งานมาก่อน
.
รวมไปถึงว่ามหาวิทยาลัยมีส่วนต่อการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน และทั้งหมดนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิหรือไม่ ซึ่งเราคงต้องรอติดตามการชี้แจงจากทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไป
.
อ้างอิงจาก