เหนื่อยล้า อ่อนแรง ไม่อยากลุกจากติด เกลียดวันจันทร์ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการเหล่านี้ มันแก้ไขได้ไม่ยากเลย เพียงแต่คุณต้องรู้ก่อนว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงของอาการสุดเบื่อสุดเซ็งนี้เกิดจาก ‘ภาวะเครียด’ หรือ ‘การหมดไฟ’
อาการเครียด และอาการหมดไฟ แม้จะดูคล้ายกัน แต่แท้จริงแล้วความหมายของอาการทั้งสองแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ความเครียดนั้นมักเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และมักจะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่เมื่อผ่านไป ความเครียดมันก็จะจางหายไปด้วยเช่นกัน
ในขณะที่อาการหมดไฟ มักจะเกิดขึ้นจากภาวะเครียดสะสมยาวนาน ทำให้มีการระบายความเครียดเหล่านั้นออกมาทางร่างกาย และจิตใจ ด้วยการพยายามแยกตัวเองออกจากสังคมเดิมๆ ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้อาการเหล่านี้พัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้ในอนาคต
ดังนั้น มันสำคัญมากที่จะแยกให้ออกมาอาการที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่คืออะไร เพื่อให้หาวิธีจัดการได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในปี ค.ศ. 2019 องค์การอนามัยโลกได้จัดให้อาการหมดไฟ เป็นปรากฏการณ์จากการทำงาน ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากจิตเภท ซึ่งอาการดังกล่าวเกิดขึ้นได้ทั้งกับคนที่ทำงานหนักเกินไป และคนที่ทำงานเช่นเดิมซ้ำๆ รวมถึงเมื่อต้องเจอปัญหาบางอย่างในที่ทำงานที่ไม่สามารถแก้ไข หรือหลีกเลี่ยงได้ เช่น การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน
ในบทความ The Difference Between Stress And Burnout (And How To Tell Which You Have) บอกว่าอาการที่เป็นสัญญาณว่าคุณกำลังหมดไฟ คือ เริ่มมีปัญหาเรื่องการนอนหลับ ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้พูดถึงการนอนไม่หลับอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงการนอนมากแค่ไหนก็รู้สึกไม่เต็มอิ่มหรือบางครั้งก็มีอาการตื่นขึ้นมากลางดึก
หลังจากเริ่มนอนไม่เต็มอิ่ม คนที่อยู่ในภาวะหมดไฟมักจะกังวลที่จะต้องตื่นไปทำงาน Ryan Howes ผู้เขียนวารสารสุขภาพจิตสำหรับผู้ชาย กล่าวว่า คนที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะดังกล่าวมักจะมีอาการ Sunday Blue หรือรู้สึกซึมเศร้าเมื่อถึงวันอาทิตย์ช่วงเย็น
นอกจากนี้ คนที่อยู่ในภาวะหมดไฟมักจะป่วยบ่อย และสูญเสียแรงจูงใจในการทำงานหรือรู้สึกว่างานไร้จุดมุ่งหมาย Lee Chambers ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า อาการเหล่านี้จะนำมาซึ่งความรู้สึกมองโลกในแง่ร้าย และเริ่มมีทัศนคติเชิงลบทั้งกับตัวเอง รวมถึงคนอื่นๆ นำซึ่งความรู้สึกอยากแยกตัวออกจากสังคมที่คุ้นเคย ท้ายที่สุดแล้วการทำงานก็จะเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน และอาจนำมาซึ่งภาวะซึมเศร้าในที่สุด
สิ่งที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญแนะนำเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภาวะหมดไฟคือ เริ่มมองหาความหมายในชีวิตการทำงานของคุณ เช่น งานของคุณสามารถสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง ให้ใช้สิ่งนั้นเป็นแรงผลักดันให้คุณมีกำลังใจในการทำงาน
นอกจากนี้ควรหาเวลาให้ตัวเอง โดยการกำหนดเวลาทำงาน และเวลาส่วนตัวอย่างชัดเจน อย่าเอาให้เรื่องงานอยู่กับคุณทุกวินาที หาเวลาทำกิจกรรมที่ตัวเองชื่นชอบบางครั้ง และอย่าสร้างความกดดันให้ตัวเองด้วยการพยายามเป็นคนที่สมบูรณ์แบบในทุกวัน เพราะการเป็นตัวของตัวเองเป็นยารักษาที่ดีที่สุดสำหรับอาการเช่นนี้
หากคุณลองทุกวิธีแล้วรู้สึกยังไม่ดีขึ้น การมองหางานใหม่อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่จงอย่ารู้สึกผิดกับตัวเองที่ยอมแพ้ หรือคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ จงจำไว้เสมอว่าไม่ใช่ทุกที่ที่จะเป็นที่ของเรา การหางานใหม่ก็เป็นเพียงการผจญภัยอีกครั้งหนึ่งที่เราต้องออกตามหา
Chambers กล่าวว่า งานไม่สำคัญเท่าสุขภาพ และการต่อสู้กับภาวะหมดไฟอย่างถึงที่สุดอาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าถึงเวลาต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว แน่นอนว่าการเปลี่ยนงานเป็นเรื่องน่ากลัว แต่อย่าลืมว่าที่นี่ไม่ใช่ที่สุดท้ายในชีวิตคุณ เชื่อเถอะว่าการออกจากงานที่เป็นมลพิษกับชีวิตคุณ จะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดเท่าที่คุณเคยทำมา
อ้างอิงจาก
https://www.huffpost.com/…/difference-between-stress…
https://www.today.com/…/burnout-or-depression-how-tell…
#BRIEF #TheMATTER