จากแถลงกรณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม บนเพจเฟซบุ๊กส่วนตัววานนี้ (26 พ.ย.) ว่า ไทยจะทำการลงนามสั่งจองวัคซีนป้องกัน COVID-19 ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (University of Oxford) และบริษัทแอสทราเซเนกา (AstraZeneca) เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่า วัคซีนดังกล่าวถูกทดสอบแล้วได้ผลการทดลองอยู่ในระดับ ‘ดีมาก’ กว่า 70-90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าทางการ จะได้รับวัคซีนชุดแรก จำนวน 26 ล้านโด๊ส ฉีดให้กับประชากร 13 ล้านคน ในช่วงกลางปีหน้า อย่างไรก็ดี มีสื่อหลักจากต่างประเทศเปิดเผยว่า วัคซีนป้องกัน COVID-19 ดังกล่าว อาจจะยังไม่มีผลการทดสอบที่ครบถ้วนพอจะยืนยันได้ว่า วัคซีนชุดนี้จะได้ผลจริงกับทุกคน
จากรายงานของ The Guardian ระบุว่า วัคซีนป้องกัน COVID-19 จากอ็อกซ์ฟอร์ด และแอสทราเซเนกา ถูกวางแผนการจัดจำหน่ายไปยังประเทศกำลังพัฒนา ที่มีรายได้น้อยและปานกลาง เนื่องจากวัคซีนดังกล่าวมีราคาถูก เพราะไม่จำเป็นต้องใช้ตู้แช่แข็งอุณภูมิติดลบต่ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้วัคซีนของบริษัทอื่นๆ มีราคาที่แพงกว่า
Fierce Biotech รายงานว่า ผลการทดสอบวัคซีนดังกล่าว ในกลุ่มตัวอย่างของคนจำนวน 11,636 คน ที่ถูกกล่าวอ้างว่าได้ผล 90 เปอร์เซ็นต์นั้น กลับกลายเป็นการทดสอบที่ใช้ตัววัคซีนเพียงแค่ครึ่งโด๊สต่อจำนวนอาสาสมัคร 2,741 คนเท่านั้น ซึ่งการให้วัคซีนที่ไม่ครบโด๊ส เป็นการให้โดยความผิดพลาดอย่างไม่ตั้งใจในบางประการ ในขณะที่อาสาสมัครจำนวน 8,895 คน ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โด๊ส กลับมีผลลัพธ์ว่าได้ผลเพียงแค่ 62 เปอร์เซ็นต์ ทำให้จากผลลัพธ์ของกลุ่มตัวอย่างทั้งสอง ใช้ได้ผลอยู่เพียงแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมากต่อผลการทดลองวัคซีนดังกล่าว
ในขณะที่นักวิจัยจากอ็อกซ์ฟอร์ดเอง ก็ยังคงสงสัยว่าเพราะเหตุใด ผลลัพธ์ของการทดลองกลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนไม่ครบโด๊ส กลับได้ผลดีกว่ากลุ่มอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนครบโด๊ส ซึ่ง มีน แพนกาลอส (Mene Pangalos) หัวหน้าฝ่ายชีวเภสัชภัณฑ์ของแอสทราเซเนกา ออกมายอมรับว่า พวกเขาทดลองวัคซีนครึ่งโด๊สเพียงแต่กับกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุต่ำกว่า 55 ปีเท่านั้น
รายงานยังชี้ว่า มีนักวิเคราะห์ของสหรัฐฯ ลงความเห็นว่า วัคซีนดังกล่าวจะไม่ได้รับการจดทะเบียนที่สหรัฐฯ แน่ๆ และเขามองว่า วัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด และแอสทราเซเนกาดังกล่าว มีการ ‘เสริมเติมแต่ง’ ผลลัพธ์ให้ออกมาเกินจริง
ทั้งนี้ นักวิจัยของอ็อกซ์ฟอร์ด และแอสทราเซเนกา ยังคงไม่มีคำตอบว่า เหตุใด 90 เปอร์เซ็นต์ของอาสาสมัคร ที่ได้รับตัววัคซีนแค่ครึ่งโด๊ส ถึงได้ผลการรักษาออกมาดีกว่าอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 โด๊ส โดยแอสทราเซเนกา ได้ออกมาแถลงว่า พวกเขาจะทำการทำสอบกับกลุ่มตัวอย่างทั่วโลก ด้วยการให้วัคซีนที่ลดโด๊สลง โดยปัจจุบัน ยังคงไม่มีเส้นเวลาบอกว่าพวกเขาจะได้ผลลัพธ์ของการทดสอบดังกล่าวเมื่อไหร่
ในขณะที่ ปีเตอร์ โอเพนชอว์ (Peter Openshaw) ศาสตราจารย์ด้านการทดลองยา จากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) ลงความเห็นว่า กลุ่มนักวิจัยจำเป็นจะต้องเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากกว่า 55 ปี เขากล่าวเสริมว่า “ถ้าเรื่องนี้ (การทดลองในคนอายุต่ำกว่า 55 ปี) เป็นความจริง มันอาจแปลว่าเรายังไม่มีข้อมูล เกี่ยวกับการให้วัคซีนครึ่งโด๊สต่อผู้สูงอายุ เราจึงต้องรอผลการทดลองที่ครบถ้วนก่อน และต้องรอผลการลงความเห็นจากเจ้าหน้าที่ที่จะทำการทดสอบวัคซีนดังกล่าวในระยะที่ 3 ด้วย”
โอเพนชอว์แนะนำเพิ่มอีกว่า ที่ผลลัพธ์ของวัคซีนจากอ็อกซ์ฟอร์ด และแอสทราเซเนกา ส่งผลได้ไม่ดีเท่าของไฟเซอร์/ไบออนเทค (Pfizer/BioNTech) และโมเดอร์นา (Moderna) มีเหตุผลมาจากเทคโนโลยีในการวิจัยรหัสพันธุกรรม RNA ที่แตกต่างกัน พวกเราจึงทำแต่ได้เพียงแค่รอดูผลการทดสอบที่ครบถ้วนแล้วเท่านั้น
พอล ฮันเตอร์ (Paul Hunter) ศาสตราจารย์ด้านเภสัชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) และที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “บ่อยครั้งที่คุณจะเห็นผลลัพธ์ที่ดูเหมือนจะได้ผลได้ดี จากการทดลองในกลุ่มตัวอย่างเล็กๆ ซึ่งควรจะระวังให้ดี ถ้าหากคุณจะเชื่อผลลัพธ์ดังกล่าวไปเลย” ซึ่งผลลัพธ์ที่ดีจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก อาจไม่ได้แปลว่าจะส่งผลลัพธ์ที่ดีเช่นกันในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ โดยล่าสุด โฆษกของแอสทราเซเนกา ได้โต้แย้งว่า “งานวิจัยถูกทำขึ้นบนมาตรฐานระดับสูง พวกเรายังมีชุดข้อมูลอีกจำนวนมากที่เราจะทำการเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ในรายละเอียดต่อไป”
โดยกระทรวงสาธารณสุขของไทยเปิดเผยว่า หลังจากที่แอสทราเซเนกาขึ้นจดทะเบียนในสหราชอาณาจักรเสร็จ จะร่วมกับไทยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีมายัง บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งจะเป็นบริษัทของคนไทยที่จะผลิตวัคซีนดังกล่าว ขณะที่ นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็น บริษัทสตาร์ทอัพ ของคณะเภสัชศาสตร์จุฬาฯ สามารถผลิตวัคซีนจากใบยาสูบชนิดพิเศษที่กำหนดให้สร้างโปรตีนสำหรับทำวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ได้แล้ว แต่โครงการนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร โดยจากรายงานล่าสุด ไทยอาจผลิตและมีวัคซีนด้วยตนเองในช่วงปลายปี 2564
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/world/2020/nov/26/scrutiny-grows-over-oxford-universityastrazeneca-vaccine?CMP=Share_iOSApp_Other
https://www.fiercebiotech.com/biotech/astrazeneca-s-covid-19-vaccine-70-effective-phase-3
https://www.theguardian.com/global-development/2020/nov/23/oxford-astrazeneca-results-covid-vaccine-developing-countries
https://www.posttoday.com/politic/news/638939?fbclid=IwAR0vvDNrnvGkpho86vKYAldAPgwpoltNuEmHjJnNV3WTzGTV8PLtiyOtNMs
https://www.thaipost.net/main/detail/84900
https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1922629
https://www.thaipost.net/main/detail/77161
https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/wp-content/uploads/2020/07/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%84%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%94-19.pdf
#Brief #TheMATTER