กระแส IO เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง เนื่องจากมีการตั้งข้อสังเกตมากมายจากบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ต่างๆ ที่พบว่า มีความพยายามของกลุ่มบุคคลซึ่งคาดเดาว่าอาจเป็นหน่วยงานของกองทัพ ได้ทำการส่งต่อ และผลิตซ้ำข้อมูลเท็จเพื่อให้ร้ายประชาชนบนอินเตอร์เน็ต กระแสดังกล่าวลุกลามไปสู่การ ‘จับโป๊ะ’ IO ที่มีให้เห็นบ่อยครั้งบนโลกอินเตอร์เน็ต
พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ได้แถลงถึงกรณีการใช้ขบวนการข้อมูลข่าวสาร (IO) จากกองทัพ ซึ่ง วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรคก้าวหน้า (อดีตพรรคอนาคตใหม่) ได้เคยอภิปรายในประเด็นหัวข้อดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พรรณิการ์ชี้ว่า เนื่องจากขบวนการใช้ IO ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง คณะก้าวหน้าจึงได้ออกมาเปิดเผยรายละเอียดของขบวรการ IO ที่กองทัพใช้มาโดยตลอดร่วมปี
พรรณิการ์ เปิดโครงสร้างของขบวนการว่า มีการแบ่งระบบอย่างชัดเจน โดยมีหน่วยงานหนึ่งทำหน้าที่ในการปล่อยข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาในการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ รวมไปถึงภาพลักษณ์ของกองทัพ และอีกหน่วยงานหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อทำการตอบโต้ ‘ฝตข.’ หรือฝ่ายตรงข้าม ได้แก่ คณะราษฎร ผู้ชุมนุม รวมไปถึงผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยเจ้าหน้าที่จากทั้งสองระบบได้ทำ IO ผ่านแอปพลิเคชัน Twitter Broadcast ในการทำหน้าที่ทวิตหลายข้อความในเวลาเดียวกัน หรือที่เรียกว่า การ ‘ปั่นแท็ก’ ผ่านการไลค์ รีทวิต ติดแฮชแท็ก จนเนื้อหาที่กองทัพต้องการจะทำ IO ขึ้นเป็นกระแสบน Twitter
จากการแถลง พรรณิการ์ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มีบัญชีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำ IO รวมกว่า 54,800 บัญชี ผ่านหน่วยงานของกองทัพจำนวน 19 หน่วยงาน โดยหน่วยงานของกองทัพที่เปิดบัญชีผู้ใช้เพื่อทำ IO มากสุด คือ พล.ร.2 รอ. ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ปราจีนบุรี (ฐานที่มั่นของกลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์เดิม) โดยมีบัญชีร่วมกว่า 17,562 บัญชี โดยจะมีเจ้าหน้าที่ในหน่วย ซ.1 ซ.2 ซ.3 ผลิตสื่อต่างๆ เพื่อสร้างข้อมูลให้ร้ายประชาชน และส่งต่อข้อมูลให้ทำการรีทวิตเรื่อยๆ
จากหลักฐานพบว่า มีการระบุตัวตนของเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมยศประจำตำแหน่งและสังกัดหน่วยงาน ที่ระบุได้อย่างชัดเจนอย่างน้อยที่สุด 600 บัญชี โดยการเปิดเผยข้อมูลในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่มีการส่งต่อข้อเท็จดังกล่าวบนอินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว
โดยพฤติกรรมของบัญชีทั้งหมด จะอยู่ในลักษณะที่เพิ่งเปิดใช้บัญชีได้เพียงแค่ 3 เดือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งทวิตข้อความและรูปภาพซ้ำๆ กัน ด้วยการติดแฮชแท็กในห้วงเวลาเดียวกัน อีกทั้งติดตามกันเองในวงแคบๆ บางบัญชีอาจทวิตข้อความแปลกๆ เนื่องจากเป็น IO ที่ไม่ชำนาญ บางบัญชีอาจเปิดเผยว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ชัดเจน ตลอดจนบัญชีผู้ใช้ที่ไม่มีตัวตน
จากแถลงการณ์ในครั้งนี้ระบุว่า กองทัพได้ยอมรับถึงการใช้แอปพลิเคชัน Twitter Broadcast และ Free Messenger โดยเป็นแอปพลิเคชั่นที่ใช้ส่งข้อความกันเองในกลุ่มในเอกสารจำนวน 25 หน้าที่กองทัพออกมายอมรับว่าเป็นข้อมูลจริง ทั้งสองแอปพลิเคชันอยู่ในเครือข่ายเดียวกันกับ M-Help Me ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นการจราจร โดยทั้ง 3 แอปพลิเคชั่นนี้อยู่ในเครือข่าย S-Planet ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนโดเมนอย่างชัดเจน ทั้งนี้ มีผู้สืบต่อข้อมูลพบว่า มีผู้เผยแพร่แอปพลิเคชั่นเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรตอบแทนคุณแผ่นดิน
แอปพลิเคชันเหล่านี้สามารถดาวน์โหลดมาได้ทุกคน แต่จะไม่สามารถเปิดใช้ได้ เนื่องจากผู้ที่จะเปิดใช้จะต้องมีการล็อกอินด้วยรหัสโดยเฉพาะ ซึ่งแอปพลิเคชั่นเหล่านี้จะไม่สามารถแคปหน้าจอได้ เนื่องจากถ้าหากมีการแคปหน้าจอเกิดขึ้น ตัวแอปพลิเคชันจะส่งการแจ้งเตือนไปยังหัวหน้าหน่วยงานว่าบัญชีผู้ใช้คนใดทำการแคปหน้าจอไป ปัจจุบัน แอปพลิเคชันทั้งสองถูกดึงออกจาก Google Playstore และ App Store ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากถูกเปิดโปงไปแล้ว
ในวันที่ 9 ต.ค. ทวิตเตอร์ได้สั่งระงับบัญชี IO ของกองทัพบกกว่า 926 บัญชี ซึ่งมีพฤติกรรมสแปมและบิดเบือนกระแสบนทวิตเตอร์ ทวิตเตอร์ระบุว่า พฤติกรรมของบัญชี IO ของกองทัพได้กระทำการด้อยค่าประชาชน โจมตีฝ่ายตรงข้าม และชื่นชมหน่วยงานของรัฐ รวมไปถึงกรณีการระงับบัญชีทางการของ ‘โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน’ ในวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยข้อหาเดียวกัน
พรรณิการ์ กล่าวสรุปว่า การแถลงครั้งนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อที่จะต้องการให้กองทัพหยุดพฤติกรรมการใช้ IO ต่อประชาชน เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวมีหลักฐานชี้ขัดว่ากองทัพทำ IO จริง และขอให้กองทัพหยุดการนำภาษีประชาชนไปทำขบวนการข้อมูลข่าวสารเพื่อต่อต้านประชาชนเสียเอง
อ้างอิงจาก