สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกปฏิบัติ และการคุกคามสิทธิ เสรีภาพ ของชนกลุ่มน้อยอย่างชาวอุยกูร์ในซินเจียง บริเวณทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เหมือนจะเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุด มีรายงานเปิดเผยอีกว่า ทางการจีนได้บังคับใช้แรงงานทาสต่อชนกลุ่มน้อยดังกล่าว เพื่อการเก็บเกี่ยวฝ้าย ในขณะที่จีนกำลังเป็นผู้ส่งออกฝ้ายอันดับที่ 5 ของโลก
รายงานดังกล่าวเปิดเผยโดย The Guardian ว่า มีชนกลุ่มน้อยประมาณ 570,000 ราย ถูกบังคับให้ใช้แรงงานเก็บฝ้ายในพื้นที่ซินเจียงของจีน โดยชนกลุ่มน้อยต่างๆ มีชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยมุสลิมเล็กๆ ในจีน อาทิ ชนกลุ่มน้อยเติร์ก ที่ถูกจับและใช้แรงงานในค่ายแรงงานเก็บฝ้ายตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ทั้งนี้ การใช้แรงงานดังกล่าวมิได้ถูกเก็บเป็นความลับ แต่ถูกนำมาเปิดเผยบนสื่อประชาสัมพันธ์ของจีนว่า เป็นนโยบายจัดหางานกว่าล้านตำแหน่งให้แก่ประชาชนที่ยากจน
ยิ่งไปกว่านั้น ถึงว่าแม้บริษัท Xinjiang Production and Construction Corps (XPCC) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาล ที่รับผิดชอบเรื่องการเก็บเกี่ยวฝ้ายในพื้นที่ซินเจียง ได้เพิ่มเครื่องจักรในการเก็บเกี่ยวฝ้ายกว่า 83 เปอร์เซ็นต์ โดยคิดเป็นการเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมฝ้ายในจีน รวมถึงจำนวนการใช้เกษตรกรในการเก็บเกี่ยวฝ้าย ที่ถูกนำมาจากจังหวัดข้างเคียงก็มีตัวเลขที่ลดลงไปด้วยแล้วก็ตาม แต่จากรายงานกลับพบว่า มีการบังคับใช้แรงงานชนกลุ่มน้อยในการเก็บเกี่ยวฝ้ายบนพื้นที่ซินเจียงพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ตามตัวเลขที่ได้รายงานไปในเบื้องต้นกว่าเกือบ 6 แสนราย
ทางการจีนได้เคยประชาสัมพันธ์ใน ค.ศ.2019 ผ่านสื่อสารมวลชนของรัฐ อ้างความสำเร็จในการจัดหางาน ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวนั้นเข้าข่ายการใช้แรงงานทาสว่า “รัฐบาลกำลังจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปัญหาการขาดที่ดินทำกิน ปัญหาขาดแรงจูงใจภายในและความขี้เกียจ ตลอดจนปัญหาการตระหนักถึงการออกจากบ้านไปทำงานของประชาชนที่อยู่ในระดับต่ำ” อีกทั้งปัญหาที่รัฐบาลจีนมองว่าเกษตรกรของตนนั้น “หัวโบราณ ปิดกั้น และขี้เกียจ” และรัฐบาลจำเป็นจะต้องกำจัดความคิดเหล่านี้
รายงานจากนักวิจัยอิสระที่ทำการศึกษาในพื้นที่ซินเจียงและทิเบตเปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์เอกสารทางราชการของจีน และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ พบว่าทางการจีนมี ‘โครงการการขนส่งแรงงาน’ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยต่างๆ จำนวนมาก ในการเก็บเกี่ยวฝ้ายเพื่อป้อนเข้าอุตสาหกรรมฝ้ายของประเทศ โดยฝ้ายที่ถูกเก็บจากซินเจียง ถูกส่งออกไปนอกประเทศคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์จากการค้าฝ้ายทั่วโลก และคิดเป็น 84 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมฝ้ายทั่วจีน โดยจากรายงานระบุว่า การได้มาของฝ้ายจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ‘แปดเปื้อน’ ไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมในจีน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยในจีนยังคงไม่คลี่คลาย โดยล่าสุด มีการส่งคำฟ้องไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) โดยผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ เพื่อขอให้เปิดการสืบสวนความผิดของจีนฐานฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุต่อชาวอุยกูร์ และพฤติกรรมที่เข้าข่ายอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ แต่คำร้องดังกล่าวกลับถูกปัดตกไป เนื่องจากอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดเผยว่า จีนไม่เคยร่วมเป็นภาคี และไม่เคยลงนามในธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ลงนามกันใน ค.ศ.2002 ด้วยเหตุนี้ คำฟ้องดังกล่าวจึงพ้นขอบเขตที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะรับพิจารณาและไต่สวนได้
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนบังคับใช้แรงงานจากชนกลุ่มน้อยในประเทศของตน เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กลุ่มนักวิจัยจาก Zenz ร่วมมือกับ Reuters ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ทางการจีนได้บังคับใช้แรงงานชนกลุ่มน้อยทิเบต ด้วยการส่งพวกเขาจำนวนหลายพันคนออกไปจากบ้านเกิด เพื่อนำไปกักกันอยู่ในค่ายที่มีลักษณคล้ายค่ายฝึกทหาร เพื่อบังคับใช้แรงงาน
จีนยังคงดำเนินนโยบายในการจัดการกับชนกลุ่มน้อยอย่างเข้มข้น โดยในหลายครั้งพวกเขาถูกกล่าวหาจากประชาคมโลกว่ามีพฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เลือกปฏิบัติ ตลอดจนเป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติ ทั้งนี้ ทางการจีนยังคงปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด ในขณะที่ปัจจุบันนี้ ยังคงมีรายงานเปิดเผยพฤติกรรมของจีนในการจับชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ ส่งเข้าไปยังค่ายกักกันเพื่อปรับทัศนคติ อบรมความคิดและอุดมการณ์แบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน ยังมีรายงานอีกว่า พบหญิงชาวอุยกูร์ถูกทางการจีนบังคับทำหมัน ฯลฯ ทั้งนี้ จีนแก้ต่างว่า ค่ายกักกันดังกล่าวมีขึ้นเพื่อจัดการกับกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา โดยในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีตัวเลขจากทางการจีนยืนยันว่า พวกเขาจับชาวอุยกูร์เข้าค่ายไปแล้วกว่า 1.29 ล้านคน ในทุกๆ ปี
อ้างอิงจาก
https://www.aljazeera.com/news/2020/12/15/icc-rejects-uighur-genocide-complaint-against-china
#Brief #TheMATTER