เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สิงคโปร์เคยพบแรงงานต่างชาติติดเชื้อ COVID-19 ในวันเดียวมากถึง 750 คน โดยพวกเขาทั้งหมดอาศัยอยู่ในย่านหอพักแรงงาน เหตุการณ์นี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน
.
ในขณะที่ไทยเราเองก็เพิ่งมีข่าวเรื่องแรงงานต่างชาติที่จังหวัดสมุทรสาครติด COVID-19 ในจำนวนมากเช่นกัน คำถามคือ เราสามารถเรียนรู้อะไรจากกรณีที่สิงคโปร์ได้บ้าง?
.
The MATTER สรุปบทเรียนจากสิงคโปร์มาให้ในโพสต์นี้นะ
.
#สถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติ
.
1. การระบาดรอบสองในสิงคโปร์ มีสัญญาณเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 30 มีนาคม เมื่อเจ้าหน้าที่พบกลุ่มก้อนใหม่ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นแรงงานต่างชาติ 4 คนซึ่งอาศัยอยู่ในหอพัก ก่อนที่จะระบาดต่อในกลุ่มแรงงานอย่างรวดเร็ว
.
2. หลังจากนั้นผู้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างชาติก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยวันที่ 16 เมษายน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มถึง 728 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในหอพักเดียวกัน
.
3. ข้อมูลจากสำนักข่าว Channel News Asia ระบุว่า ปัจจุบัน ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในสิงคโปร์ล่าสุดมี 58,320 ราย โดยเคสที่เป็นการติดเชื้อในหอพักมีมากถึง 40,315 ราย หรือคิดเป็นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของเคสทั้งหมดในสิงคโปร์
.
4. ทั้งนี้ สิงคโปร์มีแรงงานต่างชาติกว่า 300,000 คน หลายคนมาจากเอเชียใต้ เช่น บังกลาเทศและอินเดีย ส่วนใหญ่ทำงานก่อสร้าง และงานบริการที่คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ไม่ทำ ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่ทำให้การแพร่เชื้อเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในกลุ่มก้อนนี้ เพราะสภาพความเป็นอยู่ในหอพักที่แออัด และระบบสาธารณูปโภคที่ต้องใช้ร่วมกันภายในห้อง
.
5. สำนักข่าว BBC เคยเผยแพร่รายงานที่น่าสนใจว่า การระบาดครั้งใหญ่ในรอบใหม่นี้ สะท้อนได้ถึงความเหลื่อมล้ำที่แรงงานต่างชาติต้องเผชิญภายใต้ภาวะโรคระบาดในสิงคโปร์
.
“เราไม่สามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้เพราะไม่มีที่” คือคำกล่าวของแรงงานต่างชาติคนหนึ่ง ที่ถูกสั่งห้ามออกจากห้องพักห้องเดียว ที่ต้องนอนรวมกับเพื่อนทั้งหมด 11 คน
.
“คนบอกว่าให้เรารักษาระยะห่างทางสังคม แต่นั่นกลายเป็นเรื่องตลกไปแล้วสำหรับพวกเรา”
.
“เราไม่ได้ขอให้ได้รับการปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองสิงคโปร์ แค่ปฏิบัติกับเราเหมือนกับที่คุณจะปฏิบัติกับมนุษย์อีกคนหนึ่ง เหมือนกับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะดีมากเลยถ้าเป็นไปได้” แรงงานต่างชาติคนเดิมกล่าวกับ BBC
.
ขณะที่รายงานจาก The New York Times ระบุว่า บางห้องพักนั้น กลุ่มแรงงานต่างชาติต้องอาศัยอยู่ด้วยกันมากถึง 20 คนต่อห้อง ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะสามารถรักษาระยะห่างทางสังคมได้
.
#รัฐบาลสิงคโปร์รับมือปัญหาอย่างไร
.
6. นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง เคยออกมา ‘ยอมรับ’ ว่าการรับมือ COVID-19 ในหอพักของแรงงานข้ามชาตินั้นมีข้อผิดพลาด และสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหานี้ให้ดีขึ้น
.
ลี เซียนลุง ยอมรับความผิดพลาดด้วยว่ารัฐบาล “ควรจะจัดการปัญหาอย่างจริงจังและเร็วกว่านี้ในกรณีของหอพักแรงงาน”
.
7. สิ่งที่รัฐบาลทำอย่างเร่งด่วน คือประกาศห้ามแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในหอพักที่มีความเสี่ยงออกไปทำงานข้างนอก และทุกคนต้องอาศัยอยู่แต่ภายในห้องพักของตัวเองเท่านั้น พร้อมกับส่งบุคลากรทางการแพทย์ เข้าไปประจำการเพื่อให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อได้แพร่กระจายเชื้อไปยังคนอื่นๆ
.
8. อีกมาตรการคือ สั่งให้เจ้าหน้าที่รีบออกตรวจร่างกายของแรงงานต่างชาติตามหอพักต่างๆ อย่างรวดเร็ว โดยแยกคนที่ร่างกายปกติดีเป็นกลุ่มหนึ่ง ส่วนกลุ่มที่ติดเชื้อ COVID-19 ไปแล้ว ต้องถูกย้ายตัวไปอยู่ในหอพักแห่งใหม่ ที่ทางการเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นพื้นที่กักตัว
.
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ได้ประสานงานไปยังฐานทัพต่างๆ เพื่อเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติไปกักตัวอยู่ในนั้นด้วย
.
9. เมื่อเวลาผ่านไป ขั้นตอนต่อมาที่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขสิงคโปร์ทำคู่ไปด้วย คือการพยายามตรวจหา COVID-19 แบบละเอียด โดยเฉพาะการใช้วิธีการแบบเซรุ่มวิทยา เพื่อค้นหาว่า แรงงานต่างชาติคนไหนบ้างที่เพิ่งติดเชื้อ COVID-19 เป็นครั้งแรก หรือเป็นการกลับมาติดซ้ำเดิม ซึ่งการหาคำตอบให้กับเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อที่จะประเมินสถานการณ์ได้ว่า พื้นที่ในหอพักแรงงานต่างชาติแต่ละแห่งปลอดภัยแค่ไหน
.
จนถึงตอนนี้ ยังคงมีแรงงานต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่ถูกสั่งให้อยู่แต่ภายในห้อง ซึ่งรัฐบาลประกาศว่า หากสถานการณ์ดีขึ้น มาตรการ ‘ล็อคดาวน์’ จะถูกผ่อนคลายลง
.
แรงงานต่างชาติจะสามารถออกมาภายนอกได้บ้างแล้ว แต่เพียงไม่กี่ครั้งต่อเดือนเท่านั้น และจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ติดตามตัว contract-tracing devices อยู่ด้วยเสมอ ขณะเดียวกัน ทางภาครัฐก็ได้ประสานงานกับกลุ่มนายจ้างอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ช่วยเน้นย้ำและออกแบบการทำงานแบบที่รักษาระยะห่างทางสังคม
.
10. ส่วนในระยะยาวนั้น สิ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์ถูกเรียกร้องอยู่ คือการเข้าไปช่วยปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะคุณภาพชีวิตในหอพักที่แออัด
.
ที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตของแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ ต้องเผชิญกับความยากลำบากหลายสิ่ง ไม่เพียงแค่ที่พักอาศัยที่แออัด แต่ยังรวมไปถึงการเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขที่จำเป็นต่อชีวิต
.
กรณีของสิงคโปร์ เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ฉายภาพสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ ที่เกิดขึ้นภายในสถานการณ์โรคระบาดได้เป็นอย่างดี
.
.
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-asia-55314862
https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-singapore/singapore-detects-new-covid-19-clusters-at-migrant-worker-dormitories-idUSKBN25U0ZN
https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-04-09/thousands-in-dorms-pose-new-challenge-to-singapore-virus-fight
https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/covid-19-singapore-foreign-worker-dorm-outbreak-increase-12649472
https://infographics.channelnewsasia.com/covid-19/singapore-map.html?cid=h3_referral_inarticlelinks_24082018_cna
https://www.nytimes.com/interactive/2020/04/28/world/asia/coronavirus-singapore-migrants.html
https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/3114377/coronavirus-how-singapore-went-hero-zero-and-back-hero-again
#explainer #covid19 #โควิด19 #TheMATTER