หลังจากที่ COVID-19 เริ่มกลับมาระบาดอีกครั้งในไทย เราอาจจะกำลังสงสัยว่าการสั่งจองวัคซีน COVID-19 ในไทยไปถึงไหนแล้ว? แต่ละประเทศในโลกได้ทำการสั่งจองวัคซีนจากบริษัทด้านชีวเวชภัณฑ์ในหลายเจ้า แต่ทั้งหมดอาจเป็นเพียงแค่การสั่งจอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีชาติใดในเอเชีย ที่ได้รับวัคซีนล็อตแรกจากบริษัทผู้ผลิตเลย นอกจาก ‘สิงคโปร์’ นี่อาจเป็นเรื่องที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดสิงคโปร์จึงกลายเป็นชาติแรกในเอเชีย ที่ได้รับวัคซีนก่อนใคร เพราะท่ามกลางการระบาดในเวลานี้ ใครได้วัคซีนก่อนก็ย่อมปลอดภัยก่อนเป็นแน่
The Straitstimes หนังสือพิมพ์จากสิงคโปร์ ได้รายงานถึงเหตุผลที่ทำให้พวกเขาเป็นชาติแรกในเอเชีย ที่ได้รับวัคซีนก่อนใคร โดยวัคซีน COVID-19 ล็อตแรกจากบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และไบออนเทค (BioNTech) ได้ส่งถึงสิงคโปร์แล้วเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 21 ธันควาคมที่ผ่านมา หรือ 1 สัปดาห์หลังจากที่สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรได้รับวัคซีนดังกล่าว
จากรายงานระบุว่า ขั้นตอนการพิจารณาการเลือกซื้อวัคซีนของสิงคโปร์ถูกทำผ่านการตั้งคณะกรรมการทำงาน เพื่อจัดหาวัคซีนจากบริษัทที่ทดลองผลวัคซีนของพวกเขาได้อย่าง ‘ปลอดภัย’ และ ‘พร้อมใช้งาน’ โดยนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) ได้ออกมาประกาศว่า ประชาชนชาวสิงคโปร์จะได้รับการฉีดวัคซีน COVID-19 ทุกคน ราวๆ ไตรมาสที่ 3 ของ ค.ศ.2021
ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นชาติแรกๆ ที่เริ่มลงนามสั่งจองวัคซีนจากบริษัทต่างๆ เช่น โมเดอร์นา (Moderna) ในช่วงเดือนมิถุนายน หรือก่อนที่ทางโมเดอร์นาจะออกมาประกาศความสำเร็จในการทดลองวัคซีนของพวกเขากว่า 5 เดือน เช่นเดียวกันกับการลงนามสั่งซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์และไบออนเทค ตลอดจนซิโนแวค (Sinovac) บริษัทชีวเวชภัณฑ์ของจีน เพื่อที่จะทำให้สิงคโปร์มีวัคซีนทันใช้
“นี่เป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของวัคซีน แต่ก็เป็นเพราะความพยายามอย่างเหน็ดเหนื่อยของคณะทำงานหลายสิบคนที่อยู่เบื้องหลังช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อที่จะทำให้เรามั่นใจว่า สิงคโปร์จะได้รับวัคซีนเป็นชาติแรกๆ” ลีโอ ยิป (Leo Yip) ประธานคณะทำงานและกรรมการวางแผนวัคซีนและการบำบัดโรค เปิดเผยถึงการทำงานของพวกเขา ที่ทำให้สิงคโปร์ได้รับวัคซีนจากการวางแผนล่วงหน้าของหน่วยงานรัฐ เพื่อรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาด COVID-19 โดย The Straitstimes ได้ระบุถึง 3 เหตุผล ที่ทำให้พวกเขาได้รับวัคซีนก่อนชาติใดในเอเชีย ดังนี้
ประการแรก การหาบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สิงคโปร์เริ่มการค้นหาข้อมูล โดยรัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานวางแผนวัคซีนและการบำบัดโรคขึ้น ซึ่งคณะทำงานประกอบไปด้วยนักวิทยาศาสตร์ 18 คน รวมถึงแพทย์จากทางภาครัฐและเอกชน ร่วมกันหาบริษัทผู้เสนอขายวัคซีน จนพวกเขาได้รายนามบริษัทต่างๆ มากว่า 35 บริษัท เพื่อที่จะหาผู้ผลิตที่ทดลองผลวัคซีนออกมาได้ปลอดภัย และเข้าถึงได้ก่อนใครที่สุด
ขณะนี้ มีรายชื่อบริษัทที่เสนอขายวัคซีนให้แก่สิงคโปร์กว่า 56 บริษัท ซึ่งแต่ละบริษัทก็ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกันออกไป โดยคณะทำงานวางแผนวัคซีนและการบำบัดโรค จะเป็นผู้เลือกบริษัทเองทั้งหมด ซึ่งก็คือไฟเซอร์และไบออนเทค ที่คณะวางแผนฯ ลงมติจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว ตลอดจนโมเดอร์นา ซึ่งทั้งสองบริษัททดลองวัคซีนของตนที่ผลิตจาก RNA และได้ประสิทธิผลวัคซีนในการกัน COVID-19 เกิน 90 เปอร์เซ็นต์
ประการต่อมา การตรวจสอบข้อมูลวัคซีน
เพียงแค่ในช่วงปลายเดือนเมษายน หลังจากที่คณะวางแผนวัคซีนและการบำบัดโรคซึ่งมีหน้าที่ในการค้นหาและให้การสนับสนุนในการพัฒนาวิธีการในการบำบัดโรค COVID-19 ได้เริ่มทำงานไปแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ได้ลงนามในสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลกับหลายบริษัทชีวเวชภัณฑ์ เพื่อให้พวกเขามั่นใจว่าจะได้รับวัคซีนก่อนใคร และพวกเขาก็ทำการตรวจสอบข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ต่อวิธีการผลิต และประสิทธิผลของวัคซีนหล่านี้ไปด้วย เพื่อที่จะทำให้พวกเขามั่นใจว่า ทุกอย่างจะปลอดภัยดี
หลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์ได้ลงนามในสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูล วิธีการดังกล่าวทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงข้อมูลความลับของบริษัทชีวเวชภัณฑ์ต่างๆ ในเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ไม่สามารถตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะได้ อย่างไรก็ดี สิงคโปร์ไม่ได้ลงนามในสัญญาที่มีผลผูกพันให้พวกเขาจำเป็นจะต้องซื้อวัคซีนจากบริษัทที่พวกเขาไปลงนามด้วย ด้วยเหตุผลที่พวกเขามองว่า ถึงแม้จะมีบริษัทที่พัฒนาวัคซีนได้ประสิทธิผลที่สูง แต่มันก็ไม่ได้แปลว่าวัคซีนเหล่านั้นจะส่งผลสำเร็จในท้ายที่สุด
ประการสุดท้าย การเจรจาต่อรอง
รัฐบาลสิงคโปร์วางงบประมาณกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) ในการสนับสนุนการค้นหาวัคซีน ในขณะที่พวกเขาเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นองค์กรพหุภาคี ในการวิจัยและจัดหาวัคซีน เพื่อที่จะทำให้สิงคโปร์มั่นใจได้ว่า พวกเขาจะเข้าถึงวัคซีนได้ในระดับโลก อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ยังให้งบการพัฒนาการวิจัยและจัดหาการบำบัดโรค COVID-19 ในประเทศ อีกทั้งยังสนับสนุนให้บริษัทภายในสิงคโปร์พัฒนาการผลิตวัคซีนเองในระยะยาวอีกด้วย
ถึงแม้ว่าหลายฝ่ายอาจมองว่าสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก และอาจขาดอำนาจในการต่อรองระหว่างประเทศ แต่ด้วยการบริหารจัดการต่างๆ ของสิงคโปร์ตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ทำให้หลายบริษัทชีวเวชภัณฑ์มองสิงคโปร์ในฐานะจุดศูนย์กลางของผู้นำด้านชีวเวชภัณฑ์ในเอเชียไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะในอีกทางหนึ่ง หลายบริษัทชีวเวชภัณฑ์ดังกล่าว ก็มีฐานที่มั่นของตนตั้งอยู่ในสิงคโปร์ด้วยเช่นกัน
หากย้อนกลับมาที่ไทยนั้น ประเทศของเราอาจมีวัคซีนใช้กันในช่วงปลายปีหน้า หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานจากระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแถลงว่า ไทยได้สั่งจองวัคซีนจากบริษัทแอสทราเซเนกา (AstraZeneca) ไว้แล้ว โดยทางบริษัทจะถ่ายทอดเทคโนโลยีมายังบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย อย่างไรก็ตาม The Guardian เคยเปิดเผยว่า วัคซีนจากแอสทราเซเนกา อาจจะมีปัญหาจากการที่มีผลทดลองคุณภาพวัคซีนที่ยังไม่แน่นอน ทั้งนี้ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็น บริษัทสตาร์ทอัพ ของคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถผลิตวัคซีนจากใบยาสูบชนิดพิเศษที่กำหนดให้สร้างโปรตีนสำหรับทำวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส COVID-19 ในไทยเองได้แล้ว แต่โครงการนี้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร
อ้างอิงจาก
https://www.bangkokpost.com/world/2038975/singapore-gets-first-batch-of-vaccines-says-dhl
https://thematter.co/brief/129684/129684
https://thematter.co/quick-bite/covid-19-vaccine/129935
#Explainer #TheMATTER