ประเทศไทยกำลังเผชิญกับคลื่นการระบาดระลอก 2 ของไวรัส COVID-19 จากกรณีการแพร่ระบาดในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 1,000 ราย ขณะที่ workpoint รายงานว่าผู้เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวกระจายตัวไปแล้ว 32 จังหวัด โดยแบ่งเป็นพบผู้ติดเชื้อแล้ว 25 จังหวัด ยังไม่พบอีก 7 จังหวัด
.
แต่การกลับมาระบาดอีกครั้งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกนักเพราะพรมแดน 2,400 กิโลเมตรของไทยติดอยู่กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ ซึ่งมีผู้ติดเชื้อในรอบหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงถึงวันละเกือบ 1,000 ราย หรือในประเทศที่เคยสำเร็จในการควบคุมไวรัสเองอย่าง สิงคโปร์, ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ก็ล้วนต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดซ้ำระลอกที่สองที่สามมาแล้ว
.
ดังนั้น วิธีดีที่สุดที่ทำได้ในตอนนี้คือควบคุมไวรัสเพื่อรอคอยความหวังในการต่อสู้ครั้งนี้ หรือ ‘วัคซีน’ นั่นเอง และขณะที่หลายประเทศเริ่มมีข่าวดีออกมาเรื่อยๆ วันนี้เราจึงมาติดตามดูว่าสำหรับประเทศไทย สถานการณ์วัคซีน COVID-19 เราอยู่ที่ตรงไหนแล้ว
.
ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน สถาบันวัคซีนแห่งชาติเปิดเผยว่ารัฐบาลวางแผนที่จะจัดหาวัคซีนมาให้แก่ประชาชนคนไทยให้ได้ร้อยละ 50 ภายในปี 2564 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้ทำการจองวัคซีนกับ บริษัทแอสตราเซเนก้า ที่ร่วมพัฒนาขึ้นกับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดจำนวน 26 ล้านโดส ใช้สำหรับประชากร 13 ล้านคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (คนละ 2 เข็ม) นอกจากนี้ ยังมีแผนซื้อเพิ่มเติมจาก COVAX (องค์การอนามัยโลก) อีก 26 ล้านโดส และสั่งจากบริษัทยาอื่นอีกราว 13 ล้านโดส
.
โดยล่าสุดผลการทดลองระยะที่ 3 ของ แอสตราเซเนก้า กับประชากรราว 20,000 คนในอังกฤษและบราซิล พบว่า ถ้าหากฉีดให้แก่ผู้เข้าร่วมทดลองในปริมาณเพียงครึ่งโดสก่อน แล้วตามด้วยอีกหนึ่งโดสเต็มจะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรือสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้กว่าร้อยละ 90 เลยทีเดียว
.
ซึ่งในเรื่องตัวเลขเหล่านี้ สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ หรือ FDA มีระเบียบอยู่ว่า ถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากเกินกว่าร้อยละ 50 ก็ถือว่าสามารถรับรองได้แล้ว เพราะอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่เองก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเพียงร้อยละ 40-60 แต่ก็สามารถลดการนนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 37 และลดการนอน ICU ได้ถึงร้อยละ 82 แล้ว
.
ทั้งนี้ น.พ.นคร เปรมศรี ได้กล่าวว่าการสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าว “เป็นการร่วมมือในการร่วมผลิตวัคซีนกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในลักษณะการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาให้เราร่วมผลิต ซึ่งไม่ใช่การได้รับเป็นวัคซีนสำเร็จรูป แต่เป็นการนำมาผลิตในประเทศไทย” กล่าวคือ แอสตราเซเนก้า จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี และให้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (สยามไบโอไซเอนซ์ มีสำนักงานทรัพย์สินฯ เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด) เป็นผู้ผลิตวัคซีนที่ใช้ในไทยเอง
.
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคประเมินว่า ไทยมีประชากรทั้งหมด 76 ล้านคน จึงต้องการวัคซีคทั้งหมด 140 ล้านโดส ขณะที่กำลังผลิตสูงสุดในประเทศไทยอยู่ที่เดือนละ 15 ล้านโดส แต่จะผลิตเท่าไรยังขึ้นอยู่กับความต้องการของประชากรในประเทศ นอกจากนี้ ตามข้อตกลงไทยต้องเป็นฐานการผลิตวัคซีนให้ภูมิภาคอาเซียนด้วย ดังนั้น ต้องคำนึงถึงความต้องการของประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน
.
TheMATTER ได้ติดต่อไปยังสำนักวัคซีนแห่งชาติ และได้คำตอบว่า วัคซีน COVID-19 จะเดินทางมาถึงและเริ่มทำการผลิตในประเทศไทยในเดือนมิถุนายนปี 2564 อย่างไรก็ตาม การแจกจ่ายและนำมาใช้ยังมีขั้นตอนอยู่บ้าง ดังนั้น อาจจะไม่ใช่ในทันทีที่เข้าเดือนมิถุนายนของปีหน้า ที่คนไทยจะได้รับการฉีดวัคซีน
.
ในอีกแนวทางผลิตวัคซีนคือการผลิตในประเทศ โดยในขณะนี้มีวัคซีนกว่า 20 ชนิดที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนา แต่ที่ก้าวหน้าที่สุดสองชนิดคือ วัคซีนชนิด DNA พัฒนาโดยบริษัทไบโอเน็ตเอเชีย ซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย โดยคาดว่าจะทดสอบในคนระยะที่ 2 ช่วงต้นปีหน้า
.
และวัคซีนชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางวิจัยและพัฒนาวัคซีน จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ให้ข้อมูลกับ TheMATTER ว่า วัคซีนชนิด mRNA จะเริ่มทดสอบในคนระยะที่ 1 ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งยังต้องมีการทดสอบในระยะที่ 2 และ 3 ต่อมาอีก ดังนั้น จะแล้วเสร็จเมื่อไรก็ยังคาดเดาได้ยากเช่นกัน
.
อีกคำถามหนึ่ง ที่เป็นเรื่องสำคัญคือ ‘ใครบ้างคือประชากรที่จะได้รับการฉีดวัคซีนล็อตแรก?’ ในประเด็นนี้ TheMATTER ยังไม่ได้รับคำตอบชัดเจนนักจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ แต่ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่าจะมีข้อสรุปออกมาภายในช่วงเดือนธันวาคมนี้ แต่กลุ่มหนึ่งที่ต้องได้รับลำดับแรกแน่นอนคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นแนวหน้าต่อสู้กับไวรัส COVID-19
.
ในอีกด้านหนึ่ง ในงาน ‘โควิดมาราธอน : ห่างกันไว้…แต่ไปด้วยกัน’ ที่จัดขึ้นโดย ไฮแทป หรือโครงการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ได้เผยแพร่แบบจำลองโดยวิเคราะห์จากกลุ่มเสี่ยงและประสิทธิภาพของวัคซีน เพื่อหาคำตอบว่า ‘ใครควรได้รับสิทธิฉีดวัคซีนก่อน?’
.
พวกเขาพบว่าถ้าวัคซีนมีผลครบทั้งป้องกันการติดและแพร่เชื้อ รวมถึงลดความรุนแรงของโรค กลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อนคือประชากรวัย 20-39 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่อยู่นอกที่พักอาศัยมากที่สุด และเสี่ยงต่อการติดและแพร่เชื้อมากที่สุด
.
หรือถ้าวัคซีนสามารถป้องกันการติดและแพร่เชื้อได้ แต่ไม่ลดความรุนแรงของโรค ก็ยังควรเป็นกลุ่มประชากรอายุ 20-39 ปีอยู่ดีที่ควรได้รับวัคซีนลำดับแรก แต่ถ้าวัคซีนมีคุณสมบัติเพียงแค่ช่วยลดความรุนแรงของเชื้อ กลุ่มที่ควรได้รับคือกลุ่มที่เสี่ยงที่สูงคือ กลุ่มผู้สูงอายุ
.
แก้ไขล่าสุด: 17.10 น.
.
.
อ้างอิง: