ม.สงขลานครินทร์คิดค้นชุดตรวจแอนติบอดี Covid-19 สำเร็จ พร้อมให้สถานพยาบาลสั่งซื้อเพื่อใช้งาน
.
การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ในห้วงเวลานี้ ทำให้ทุกคนจดจ่อไปที่ ‘วัคซีน’ มากขึ้น แต่ไม่นานมานี้มีข่าวดีจากนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ประจำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. เมื่อพวกเขาคิดค้นชุดตรวจ Rapid-Test สำหรับตรวจแอนติบอดีโรค Covid-19 ได้สำเร็จและขณะนี้ผ่านการรับรองจากองค์กรอาหารและยา หรือ อ.ย. เรียบร้อยแล้ว
.
ชุดตรวจแอนติบอดี Covid-19 สามารถช่วยอะไรเราได้บ้าง? กล่าวง่ายๆ คือ ชุดตรวจแอนติบอดีใช้สำหรับดูว่าเราเคยได้รับเชื้อและมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวดังกล่าวหรือยัง ซึ่งสามารถช่วยคัดกรองผู้ป่วยได้ก่อนถึงมือบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงตัวเราเองจะได้ทราบว่า เอาจริงๆ แล้วเราเคยได้รับเชื้อชนิดนี้มาก่อนหรือเปล่า เพราะหนึ่ง ไวรัสชนิดนี้ใช้เวลาฝักตัวในร่างกายสูงสุดถึง 14 วัน และสอง บางครั้งที่เราได้รับเชื้อน้อย เราอาจไม่แสดงอาการและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นในร่างกายเรียบร้อยแล้วก็ได้
.
โดยในรายการ SuthiChaiLive โดย สุทธิชัย หยุ่น นักข่าวอาวุโสได้เชิญ ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล หัวหน้าโครงการชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรค Covid-19 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. มาร่วมรายการ โดยเขาได้กล่าวว่า ปกติแล้วการตรวจหา Covid-19 จะทำได้สองแบบคือ ตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง กับตรวจหาภูมิคุ้มกันสำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ซึ่งโดยปกติผู้ที่เคยได้รับเชื้อจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ในการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาในร่างกาย
.
ดร.ธีรกมล กล่าวว่า “ปัญหาประการหนึ่งในปัจจุบันคือผู้ป่วยไม่ค่อยแสดงอาการ ทำให้การวัดอุณหภูมิใช้ได้ยากแล้ว และมีเปอร์เซ็นต์เพียงแค่ตัวเลขหลักเดียวเท่านั้นที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงและต้องเข้าโรงพยาบาล” อย่างไรก็ดี การไม่แสดงอาการไม่เท่ากับว่าไม่สามารถแพร่เชื้อได้ ดังนั้น “เรามองหน้า เราวัดอุณหภูมิ มันไม่แสดงอาการก็จริง แต่เลือดมันไม่โกหกครับ”
.
ทั้งนี้ ชุดตรวจแอนติบอดีที่ทาง ม.อ. พัฒนาขึ้นมี 2 ชุด โดยชุดหนึ่งมีชื่อว่า PSB Covid-19 กำลังอยู่ในการพิจารณาของ อ.ย. แต่อีกชุดหนึ่งที่ชื่อว่า KBS Covid-19 ได้ผ่านการรับรองเรียบร้อย และสามารถหาซื้อได้ในราคา 350 บาท (แต่ตามกฎหมาย ประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้เองได้ ต้องไปติดต่อกับสถานพยาบาลเท่านั้น) โดยสามารถตรวจหาแอนติบอดีได้โดยการหยดเลือด 1-2 หยดลงในช่องบนเครื่องตรวจ และค่อยหยดน้ำยารันนิ่งบัฟเฟอร์ตามไป 3 หยด และรอคอยเพียง 15 นาทีก็จะแสดงผลขึ้นมาบนเครื่องตรวจ
.
โดยการแสดงผลบนชุดตรวจดังกล่าวสามารถบ่งบอกระยะของการติดเชื้อได้ โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1.ไม่เคยได้รับเชื้อ 2.กำลังติดเชื้อระยะต้น 3.ได้รับเชื้อมาระยะหนึ่ง และ 4.เคยติดเชื้อมานานหรือหายแล้ว โดย ดร.ธีรกมล กล่าวว่า “ชุดตรวจในปัจจุบันที่จะผ่าน อ.ย. ต้องมีความแม่นยำเกิน 98 เปอร์เซ็นต์ และเราผ่าน”
.
นอกจากนี้ ข่าวดีอีกประการคือในขณะนี้ทางทีมวิจัยได้รับการติดต่อจากประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, อินเดีย รวมถึงประเทศในโซนอาหรับเพื่อสั่งซื้อชุดตรวจดังกล่าว ซึ่ง ดร.ธีรกมล ให้ความมั่นใจว่าถึงแม้จะมีออเดอร์จากต่างประเทศสั่งมา กำลังการผลิตในตอนนี้ก็เพียงพอต่อความต้องการอยู่ดี
.
ดร.ธีรกมล กล่าวว่า ในขณะนี้เราอยู่ในช่วงเวลาของการตรวจเชิงรุก และการมีอยู่ของเครื่องตรวจ Rapid-test แบบนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่คือภาครัฐหรือภาคเอกชนจะมีแผนในการนำชุดตรวจนี้ไปใช้อย่างไร เขากล่าวว่า “นักวิจัยผลิตเครื่องมือขึ้นมาแล้ว เราอยากให้ทุกท่านนำไปใช้อย่างมีหลักการและมีแผนชัดเจน นี่เป็นความรู้สึกจากนักวิจัย”
.
ช่วงสุดท้ายของรายการเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะ ดร.ธีรกมล มองว่า ความสำเร็จของการคิดค้นชุดตรวจครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเครื่องมือพร้อมใช้เท่านั้น แต่มันยังทำให้วงการนักวิจัยไทยได้ยกระดับตัวเองขึ้นไปอีกขั้น เหมือนเด็กที่ค่อยๆ ฝึกปั่นจักรยานเก่งขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง สุทธิชัย ในฐานะพิธีกรรายงานแสดงความเห็นว่า “มันจะช่วยพาประเทศไทยหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และความรู้ปานกลางเหมือนทุกวันนี้” เพราะที่ผ่านมาเรามักจะเป็นประเทศที่ซื้อนวัตรกรรมจากประเทศอื่นเสมอ เพราะมองว่าประหยัดหรือคุ้มค่ามากกว่า ซึ่ง ดร.ธีรกมล เห็นด้วยว่า วิธีการที่เรากำลังเดินไปตอนนี้ “ยั่งยืน” มากกว่าวิธีอื่น
.
ล่าสุด นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้อยากเน้นย้ำว่า ประชาชนไม่ควรซื้อชุดตรวจชนิดนี้จากจากโลกออนไลน์มาใช้เอง เพราะเป็นเครื่องมือทางการแพทย์และต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการใช้ และการตรวจหาภูมิต้านทานจำเป็นต้องได้รับเชื้อในระยะเวลาหนึ่ง ถึงจะแสดงผล ดังนั้น การตรวจเองอาจทำให้ประชาชนรู้เท่าไม่ถึงกาลและกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว
.
ฟังรายการ SuthiChaiLive ฉบับเต็มได้ที่
.
.
อ้างอิง: