ปลายปีที่แล้วเราอาจจะคาดหวังว่า เริ่มปีฉลูใหม่นี้ อาจจะนำพามาซึ่งความหวังอะไรหลายอย่าง จากที่ซบเซากับโรคระบาดมาตลอดปีที่แล้ว
.
แต่ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อปลายเดือนธันวาคมพบการระบาดระลอกใหม่ใจกลางจังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลให้ระบาดกินวงกว้าง และเกิดการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดในหลายจังหวัดตามมา โดยมีการสั่งห้ามนั่งทานอาหารในร้านเกินสามทุ่ม งดขายแอลกอฮอล์หน้าร้าน ฯลฯ
.
ซึ่ง KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ได้เก็บข้อมูลดังกล่าว และผลออกมาว่า พื้นที่ที่ถูกประกาศควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง กินเนื้อที่ราว 70% ของเศรษฐกิจทั่วประเทศ (ราว 60 จังหวัด ณ ปัจจุบัน) นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว เหมือนถูกสะกัดดาวรุ่งในข้ามคืน
.
แน่นอนว่าการปิดเมืองบางส่วนครั้งนี้ ทำให้ทางเกียรตินาคินภัทร คาดการณ์ตัวเลขจีดีพีประเทศไทยในปีนี้ “จะขยายตัวอยู่ที่ 2%” เท่านั้น จากครั้งก่อนที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ที่ 3.5% เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจจะชะลอการเติบโตทันตาเห็น ขณะที่ความหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมา ก็ต้องพักไว้ก่อน โดยคาดว่าปีนี้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้สัก 2 ล้านคนก็เก่งแล้ว หรือแย่ที่สุดก็คือเปิดประเทศไม่ได้เลยตลอดปี
.
ซึ่งหากเปิดรับนักท่องเที่ยวไม่ได้ จีดีพีอาจจะเลวร้ายถึงระดับ -1.2%
.
KKP Research บอกต่อด้วยว่า จากการระบาดระลอกใหม่ จะตามมาซึ่ง 3 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อไป โดยเป็นประเด็นที่อาจจะซ้ำเติมเศรษฐกิจมากไปกว่าเดิม หากผู้เกี่ยวข้องทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ชี้เป็นชี้ตายเศรษฐกิจประเทศ ในจังหวะที่คนทำงาน ผู้ประกอบการ คนหาเช้ากินค่ำ กำลังหมดแรงและไปต่อกันไม่ไหว
- ‘จะคุมโรคกันได้มากแค่ไหน’ เมื่อการลุกลามของการติดเชื้อภายในประเทศยังต่อเนื่อง และความพิเศษของเชื้อไวรัส COVID-19 คือผู้ติดเชื้อมีทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ (asymptomatic)
.
จากการรายงาน ของ CDC ซึ่งอ้างอิงสถิติล่าสุดในสหรัฐอเมริกาประเมินว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการมีถึง 40% และอาจสูงถึง 80% หากนับรวมผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ทำให้ตรวจไปพบโรค แต่สามารถแพร่เชื้อไปยัง โดยไม่รู้ทั้งตัวผู้รับและแพร่เชื้อ
.
ขณะที่ไทยไม่มีการตรวจปูพรมวงกว้าง และกลุ่มที่น่ากังวลคือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดกัน ซึ่งหากจำนวนติดเชื้อของคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น จะทำให้การผลิตของไทยกระทบในระยะสั้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
.
- ‘สาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยมีข้อจำกัดอยู่ที่จุดไหน’ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อหลักร้อยทุกวัน ขยายวงขึ้นเรื่อยๆ KKP Research ประเมินว่า หากจำนวนผู้ป่วยที่ ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึง 15,000-20,000 คน (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 5,000 คน ณ วันที่ 12 มกราคม 2564) จะถึงจุดที่เกินที่สาธารณะสุขไทยรองรับได้ และจะเข้าสู่การล็อกดาวน์ประเทศรอบ 2 อย่างเป็นทางการ
.
- ‘ความครอบคลุมในการแจกวัคซีน และประสิทธิภาพของวัคซีน’ ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ว่า สรุปแล้วคนไทยจะได้วัคซีนของใครและได้ฉีดกันเมื่อไหร่ โดย ‘วัคซีน’ จะถือเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่ทำให้คนไทยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้
.
ตามรายงานของรัฐบาลไทย – ไทยจะได้รับวัคซีน Coronavac Sinovac Biotech ของประเทศจีน 2 ล้านโดสในเดือนหน้านี้ และ 20% ประชากรไทยจะได้ฉีดวีคซีนในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ต้องระวังว่าประสิทธิภาพวัคซีนชนิดนี้ได้ผลแค่ไหน และต้องระวังการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ระหว่างนี้ ซึ่งวัคซีนที่ผลิตออกมาแล้วอาจจะเอาไม่อยู่
.
ส่งออกไทยยังเป็นความหวังลางๆ ได้ แต่ยังมีความเสี่ยง
ข้ามจากเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยว รีเสิร์ชจากเกียรตินาคินภัทรบอกว่า ปัจจุบันการส่งออกไทย แม้จะหดตัวลง แต่ยังเป็นเซคเตอร์ที่ถือว่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะมีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก
.
แต่ส่งออกไทยมีการส่งออกสินค้าประเภทเทคโนโลยีน้อย ซึ่งสินค้าเทคฯ เป็นสินค้าที่ทั่วโลกมีความต้องการสูง ด้วยเหตุนี้ส่งออกไทยจึงมีความเสี่ยงและเติบโตได้ไม่เท่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน
.
หลายธุรกิจมีการจ้างงาน แต่ธุรกิจท่องเที่ยวยังไม่เห็นแววฟื้น
รีเสิร์ช KKP ระบุว่า เมษายน-กันยายนของปีที่แล้ว เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาจ้างงานในหลายกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ซึ่งขับเคลื่อนจากกำลังซื้อของคนในประเทศ
.
อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกสองและการปิดเมืองรอบนี้ จะซ้ำเติมให้ภาพรวมการจ้างงานและอัตราว่างงงานรุนแรงกว่ารอบก่อน ทำให้เป็นไปได้ว่า อาจจะเกิดการลดชั่วโมงการจ้างงานของลูกจ้างในวงกว้าง ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ที่สายป่านไม่มากพอ และยื้อมาจนสุดแรงแล้ว อาจจะต้องปิดกิจการในเร็วๆ นี้
.
คำแนะนำจาก KKP Research บอกว่า รัฐต้องเข้ามาเยียวยากิจการให้มากขึ้นและเร็วที่สุด ผ่านนโยบายระยะสั้น เช่น ปลดล็อกการเข้าถึงสินเชื่อของคนทำธุรกิจ เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะหดตัวอีกยาว ซึ่งเสี่ยงมากต่อความอยู่รอดของบรรดาผู้ประกอบการ
.
“ถึงแม้บางโครงการ เช่น ‘คนละครึ่ง’ และ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ จะค่อนข้างประสบความสำเร็จและลงสู่ประชาชนและธุรกิจได้จริง แต่ก็ยังนับเป็นเม็ดเงินเพียงส่วนน้อย หากเปรียบเทียบขนาดของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง กับประเทศอื่นจะพบว่าไทยยังมีการใช้จ่ายจากภาครัฐในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งการใช้งบประมาณในการกระตุ้น เศรษฐกิจที่ประกาศไว้ขนาด 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังถูกใช้ไปเพียงราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น”
.
“ทั้งนี้ประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของจีดีพี ไม่ควรเป็นข้อจำกัดในภาวะวิกฤติที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนต่อประชาชนรุนแรงเช่นนี้หากการกู้เงินของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รั่วไหลน้อย และมีแผนในการรักษาวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” รีเสิร์ชจากเกียรตินาคินภัทร ระบุทิ้งท้าย
.
อ่านรีเสิร์ชฉบับเต็มที่ https://bit.ly/3bLLfO1
.
#Brief #business #TheMATTER