จะดีหรือร้ายแค่ไหน วันหนึ่งเขาก็ต้องไปอยู่ดี .. เมื่อ โจ ไบเดน (Joe Biden) เข้าพิธีรับสาบานตน เพื่อขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 46 หลังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปลายปีก่อนมาได้ ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้ดำรงตำแหน่งมา 4 ปี ต้องลงจากตำแหน่งไป
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ชื่อของทรัมป์มักเป็นข่าวใหญ่ที่ส่งผลกระทบสำคัญไปทั่วโลกเสมอ ทั้งในแง่ที่ว่าเป็นผู้นำของประเทศมหาอำนาจและในแง่ของความสุดโต่งที่แหกกฎต่างๆ อย่างที่ประธานาธิบดีคนอื่นไม่ทำกัน แต่การลงจากตำแหน่งของทรัมป์ เป็นเครื่องยืนยันให้เราเห็นกันอย่างชัดเจนเลยว่า ถ้าระบบการเมืองเข็มแข็ง และมีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างสถาบันหลักอย่างชัดเจน ต่อให้ผู้นำจะเป็นยังไง ระบบก็จะทำให้เขาหลุดจากตำแหน่งไปได้
อำนาจของรัฐบาลสหรัฐฯนั้น ถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยทั้งสามฝ่ายต่างก็มีอำนาจในการตรวจสอบกันและกัน เพื่อป้องกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้อำนาจในทางมิชอบ โดยมีประธานาธิบดีที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อำนาจจะอยู่ที่ตัวผู้นำเพียงฝ่ายเดียว เพราะอำนาจนี้ก็ถูกถ่วงดุลโดยสภาคองเกรส ซึ่งได้รับเลือกมาจากประชาชนเช่นกัน โดยสภาคองเกรสยังเป็นฝ่ายที่มีอำนาจในการถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งได้ ขณะที่ ฝ่ายตุลาการก็มีอำนาจในการพิจารณานโยบายและกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาล ซึ่งหากกฎหมายเหล่านี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะสามารถยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าว
การถ่วงดุลที่เข็มแข็งนี้เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า ทำไมสหรัฐฯ ถึงเป็นประเทศที่ยึดระบอบประชาธิปไตยมาอย่างยาวนานได้ และทำให้สามารถเปลี่ยนผู้นำประเทศได้ โดยอาศัยระบบการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพ ยิ่งกับเหตุจลาจลที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม จากกรณีที่ผู้สนับสนุนทรัมป์ ไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้ง ยิ่งเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการเมืองของสหรัฐฯ เข้มแข็งอย่างมาก เพราะบรรดาคนสนิทของทรัมป์อย่าง ไมค์ เพนซ์ (Mike Pence) หรือวุฒิสภาพรรครีพับลิกัน ต่างก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไม่เข้าข้างทรัมป์แล้ว
ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เคยให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ไว้ว่า ในผู้นำสหรัฐฯ ยุคแรก Founding Father กลุ่มที่เขียนรัฐธรรมนูญตั้งใจให้มีบทถอดถอน หรือ electoral collage ที่มีคณะผู้เลือกตั้งมากำกับการเลือกตั้งของประชาชน เพราะเขากลัวจะได้ประธานาธิบดีที่เป็นนักปลุกระดมมวลชน แต่ไม่มีหลักการ เขากลัวจะได้ผู้นำที่ปลุกปั่นให้เกิดการใช้กำลัง เข่นฆ่ากัน
“ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่มีการควบคุม check and balance ถ่วงดุลอำนาจ จึงเป็นหลักใหญ่ของรัฐธรรมนูญอเมริกา และอยู่มาได้ถึงกว่า 200 ปี”
อ.ธเนศยังกล่าวถึงการจัดการกับเหตุจลาจลในสหรัฐฯด้วยว่า สหรัฐฯ กำลังพิสูจน์ว่า ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการยืนหยัดในหลักการรัฐธรรมนูญ หลักการถ่วงดุลอำนาจและเปิดเผย ทุกอย่างต้องทำตามหลักยุติธรรม
ส่วนคำถามว่า ทำไมสหรัฐฯ ไม่เคยมีรัฐประหารเลย ตามรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ระบุไว้ว่า รัฐสภาต้องจัดตั้งและสนับสนุนกองทัพบก แต่ห้ามอนุมัติงบประมาณให้กับกองทัพบกเกินกว่าครั้งละ 2 ปี ขณะที่ มาตรา 8 วรรค 13 ระบุว่า รัฐสภาต้องจัดหาและบำรุงรักษา กองทัพเรือ ซึ่งแปลว่า กองทัพเรือของสหรัฐฯ มีความพร้อมรบมากกว่า และกองทัพเรือส่วนใหญ่ก็อยู่ในน้ำ จึงมีโอกาสรัฐประหารยากกว่า
นอกจากนี้ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เคยเขียนบทความอธิบายไว้ว่า ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่มีอำนาจเต็ม แตกต่างกับประเทศไทย ที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมักไม่มีอำนาจ เพราะอำนาจมักอยู่ในมือผู้บัญชาการกองทัพบก เนื่องจากกองทัพบกมีกำลังพลมากที่สุดนั่นเอง
นอกจากนี้ อ.โกวิทยังเล่าด้วยว่า ตามสายการบังคับบัญชาของทหารยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการทบวงกองทัพต่างๆ ทำรัฐประหารเกิดขึ้นได้ยาก อีกทั้งรัฐมนตรีว่าการกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการทบวงกองทัพต่างๆ นั้นยังมีกฎหมายบังคับอีกว่า หากเคยเป็นทหารมาก่อนต้องถูกปลดประจำการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 ปี
การยึดมั่นในหลักการว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริง และรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่อาจทำลายได้นั้น ทำให้สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในประเทศคงความเป็นประชาธิปไตยไว้ได้อย่างยาวนาน ดังคำกล่าวที่ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่กล่าวในพิธีสาบานตนว่า “ความต้องการของประชาชนถูกรับฟัง ความตั้งใจของประชาชนได้รับความสนใจ เราได้เรียนรู้อีกครั้งว่า ประชาธิปไตยเป็นสิ่งมีค่า ประชาธิปไตยนั้นเปราะบาง และในเวลานี้ ประชาธิปไตยมีชัย”
อ้างอิงจาก
https://thematter.co/soc…/us-riot-2021-with-aj-thanet/132425
https://theconversation.com/was-it-a-coup-no-but-siege-on-u…
https://www.matichon.co.th/article/news_1941199
https://www.voicetv.co.th/read/43688
https://www.theguardian.com/…/joe-biden-inauguration-donald…
#InaugurationDay #politics #Explainer #TheMATTER