หลังการเข้าสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ของโจ ไบเดน หนึ่งในความท้าทายก็คือการคงสถานประเทศต้นแบบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม นี่คือความเห็นของนักวิชาการที่ติดตามการเมืองสหรัฐฯ มาต่อเนื่อง
.
อ.วิบูลย์พงศ์ พูนประสิทธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาซึ่งจัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า แม้โดนัลด์ ทรัมป์จะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ชุดความคิดที่เขานำเสนอจะยังมีอิทธิพลต่อพรรครีพับลิกันและกับชาวสหรัฐฯจำนวนหนึ่ง จนน่าจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมสหรัฐฯไม่หมดลงไปง่ายๆ เพราะต้องไม่ลืมว่า ทรัมป์เองก็ได้คะแนนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 74 ล้านเสียง
.
“ด้วยจิตวิทยาการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียของทรัมป์ ทำให้มีกลุ่มผู้สนับสนุนความเชื่อแบบเดียวกับเขา นอกจากนี้ เขายังสามารถหยิบประเด็นชาตินิยมแบบดั้งเดิมที่นักการเมืองคนอื่นไม่กล้าพูด ทำให้ได้รับความนิยมจากคนสหรัฐฯแบบดั้งเดิม จึงเป็นเสมือนตัวแทนจากแนวคิดอนุรักษ์นิยม ผมยังเชื่อด้วยว่า ทรัมป์มีโอกาสจะกลับมารับสมัครชิงตำแหน่งอีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า”
.
ภายใต้ประธานาธิบดีสหรัฐฯชื่อไบเดน ท่าทีต่อไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
.
อ.วิบูลย์พงศ์มองว่า สหรัฐฯยุคไบเดนจะต่างจากทรัมป์แน่นอน ตามจุดยืนของพรรคเดโมแครต ในอดีตทรัมป์สนใจไทยแค่ด้านการค้าเท่านั้น ไม่สนใจปัญหาการเมือง แม้แต่ปัญหาในไต้หวันหรือฮ่องกง สหรัฐฯก็มีบทบาทน้อยมาก แต่ยุคไบเดนจะต่างออกไป เพราะพรรคเดโมแครตมีจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชน กระทั่งเรื่องแรงงานข้ามชาติ เรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ไทยต้องเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) อีก
.
“อีกสิ่งที่น่าจะกระทบกับไทย ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือ และ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Trans-pacific Partnership (CPTPP) ไทยอาจจะถูกบังคับให้เลือกข้างระหว่างสหรัฐฯกับจีน ไทยจึงควรหารือในอาเซียน เพื่อให้การแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้ในนามของอาเซียน” ที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทยมอง
.
.
#Brief #TheMATTER