ศิลปะ คือหนึ่งในเครื่องมือที่สะท้อนการต่อสู้และการเคลื่อนไหวของผู้คนมาหลายยุค หลายสมัย และล่าสุดกลุ่มศิลปิน artn’t เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถสั่งจอง ทิชชู่ลาย ‘หมายเรียก 112′ ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี
ตัวแทนศิลปินจากกลุ่ม artn’t ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า ไอเดียของงานศิลปะชิ้นนี้ มาจากการที่เขาไม่ชอบใช้กระดาษทิชชู่ เพราะมองว่าเปลือง ใช้ได้แค่ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง มีความบอบบาง พร้อมกับที่เห็นว่า ความหมายของการ ‘ใช้แล้วทิ้ง’ ค่อนข้างแรง ทั้งยังเป็นสิ่งของที่เข้าถึงผู้คนได้ง่าย และเป็นสิ่งที่เอาใช้เช็ด ชำระสิ่งสกปรก ฉะนั้นตัววัสดุกับประเด็นจึงขับเคลื่อนกันไปอย่างเทียบเคียงกัน
เขาเล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยนำประเด็นอื่นๆ มาปริ้นท์ลงบนทิชชู่อยู่แล้ว แต่มองว่ายังมีประเด็นอะไรที่ใกล้ตัวที่จะผลักเทคนิคนี้ให้ไปได้ไกลและเจาะจงมากขึ้น ประกอบกับเห็นผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ถูกออกหมายเรียก ม.112 อย่างกระจัดกระจาย โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน จึงนำไอเดียนี้ไปปรึกษากับกลุ่ม artn’t ที่เคลื่อนไหวการเมืองผ่านศิลปะอยู่แล้ว และได้รับการสนับสนุน จนออกมาเป็นผลงานอย่างที่เราเห็น
เจ้าของไอเดียยังบอกด้วยว่า เขาดีใจกับกระแสตอบรับ และสนุกมากที่ได้เห็นผู้คนแสดงความคิดเห็นถึงวิธีการนำไปใช้กับบริบทต่างๆ โดยมองว่า นี่จะเป็นแรงกระเพื่อมของประเด็นเรื่อง ม.112 ได้อีกระลอก เพื่อให้สิ่งที่ผู้คนเรียกร้องไม่หายไป
“ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้ผลิต แต่ในมุมมองผม คิดว่าผู้สร้างผลงานของจริง คือผู้ที่ได้รับทิชชู่ไปแล้วใช้มัน ซึ่งนี่คือการสร้างไอเดียปลายเปิดให้แก่ทุกคนได้มีสิทธิในการครอบครองและสร้างสรรค์ผลงานตามแต่ละวิธีของตนเอง เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมให้ประเด็นนี้ขยับต่อไปได้ ผมคิดว่าทุกคนมีสิทธิที่จะพูดได้ เพียงแต่เป็นวิธีไหนเท่านั้นเอง”
เขาย้ำว่า ไม่เห็นด้วยกับการออกหมายเรียกใน ม.112 อย่างกลาดเกลื่อน ซึ่งจะยิ่งทำให้กฎหมายถูกลดความน่าเชื่อถือลง ทั้งยังเป็นการใช้โดยไม่ละเว้นแม้แต่เยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ จึงเป็นอะไรที่ประชาชนไม่ควรยอมรับ และยังกล่าวว่า นี่ถือเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับประเทศที่พร่ำบอกเสมอว่าเป็นประชาธิปไตย แต่แค่สิทธิพื้นฐานในการแสดงออกของประชาชนยังถูกกีดกัน
“คุณถูกวิจารณ์ ถูกตั้งคำถาม แต่คุณตอบโต้ด้วยการห้าม การกระทำแบบนี้ก็เหมือนราดน้ำมันให้กองไฟเพิ่มมากขึ้น คุณกำลังดูถูกความคิดและความสามารถของคนรุ่นใหม่อยู่ ซึ่งการใช้อำนาจอย่างฟุ่มเฟือยแบบนี้ ผลของมันจะย้อนกลับไปทำลายคนใช้อำนาจเอง”
เมื่อถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับกฎหมาย ม.112 เขามองว่า กฎหมายนี้มีโทษจำคุกอยู่ที่ 3-15 ปี ซึ่งเขามองว่าเป็นโทษที่รุนแรงพอๆ กับโทษของการพรากผู้เยาว์ หรือการฆ่าคนโดยไม่เจตนา โดยศาลไม่สามารถตัดสินหรือผ่อนปรนให้ต่ำกว่านี้ได้ อีกทั้ง ยังเป็นกฎหมายที่มักถูกใช้ในการโจมตีทางการเมือง นอกจากนี้ คำว่า ‘ดูหมิ่น’ ก็มีความคลุมเครือ และกว้างเกินไป
ตัวเขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นด้วยว่า ควรยกเลิกกฎหมาย ม.112 เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิตั้งคำถามและได้ตรวจสอบเงินภาษีสถาบันกษัตริย์ ทั้งยังเป็นวิธีที่จะช่วยให้ประชาชนและสถาบันกษัตริย์ได้เคารพกันและกัน และเมื่อวิจารณ์ได้ เข้าถึงได้ เราในฐานะประชาชนก็จะตักเตือน แก้ไข ปรับปรุง และทำให้สิ่งเหล่านี้ยังคงสวยงาม ควรค่าแก่การเคารพต่อไปได้