เหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมาไม่เพียงส่งผลกระทบต่อชาวเมียนมาในประเทศเท่านั้น แต่กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาหลายคนต่างแสดงความกังวลกับการยึดอำนาจดังกล่าว โดยเฉพาะเมื่อครั้งหนึ่ง ชาวโรฮิงญากว่า 7 แสนคนต้องเดินทางออกจากรัฐยะไข่ เพื่อหลบหนีการปราบปรามของกองทัพเมียนมา ที่สหประชาชาติเรียกมันว่า ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’
ใบหน้าของโมซูนา คาตู (Mozuna Khatu) ดูมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้ยินข่าวว่าอองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ถูกควบคุมตัว เธอกล่าวสำนักข่าว VICE ด้วยความดีใจว่า “สรรเสริญแก่พระเจ้า บางทีเราจะได้กลับบ้านแล้ว”
แต่เมื่อโมซูนารู้สถานการณ์การยึดอำนาจทั้งหมด ความรู้สึกเมื่อชั่วครู่ก็จางหายไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่ากองทัพเมียนมากลับมาอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศอีกทั้ง โมซูนาเปิดเผยว่า ครอบครัวของเธอ และชาวโรฮิงญาทุกคนสูญเสียทุกอย่างเพราะทหาร ดังนั้นหากทหารเป็นผู้กุมอำนาจ ก็คงกลับประเทศไม่ได้แล้ว
ค่ายลี้ภัยในบังกลาเทศ เป็นสถานที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญากว่า 1 ล้านคน ที่ถูกขับไล่ออกจากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาในช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลพลเรือน และปฏิกิริยาของโมซูนาในขณะที่ได้ยินว่าอองซาน ซูจีถูกควบคุมตัว บ่งบอกชัดเจนถึงมรดกทางความรู้สึก ที่ยังคงหลงเหลือจากเหตุการณ์ที่อองซาน ซูจีปฏิเสธการปกป้องชาวโรฮิงญา จากกองทัพเมียนมาที่ขับไล่พวกเขาออกจากสถานที่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘บ้าน’
การเพิกเฉยต่อประเด็นฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวโรฮิงญาท่ามกลางการจับตามองทั่วโลก ทำให้หลายฝ่ายมีความเห็นว่าการกระทำของเธอเป็นการปกป้องกองกำลังทหาร และพยายามรักษาตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงทอดทิ้งหลักมนุษยธรรมที่เคยยึดถือ อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันกับคนทั่วโลกว่า ปัญหาชาติพันธุ์ในเมียนมาเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน และเป็นไปไม่ได้เลยที่ชาวต่างชาติจะเข้าใจคนเมียนมา เท่ากับคนเมียนมาจริงๆ
การรัฐประหาร และถ่ายโอนอำนาจการปกครองไปอยู่ในมือของกองทัพ เป็นสิ่งที่ชาวโรฮิงญากังวลอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงโอกาสในการกลับบ้าน ความปลอดภัย และได้รับการปฏิบัติในฐานะพลเมืองที่ลดน้อยลงไปอีก และยิ่งตอนนี้ หนึ่งในผู้กุมอำนาจสูงสุดคือ นายพล มิน อ่อง หล่าย (Min Aung Hlaing) ผู้มีส่วนในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในเมียนมา ซึ่งเขาเคยกล่าวว่า “ชาวโรฮิงญาในเมียนมาเป็นธุรกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น”
หลังเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร มินารา (Minara) ผู้นำชุมชนโรฮิงญาในบังกลาเทศพยายามติดต่อกับญาติที่ยังอาศัยอยู่ในเมียนมา เธอกังวลว่าอาจจะเกิดเหตุไม่ดีขึ้นกับครอบครัว และเหล่าเพื่อนๆ อีกทั้งอโฟซา (Afrosa) ผู้ก่อตั้งกลุ่มสตรีโรฮิงญาเพื่อความยุติธรรมและสันติภาพ เปิดเผยว่า แม้ที่ผ่านมาชาวโรฮิงญาจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวเมียนมา แต่เธอก็รู้สึกเสียใจกับประชาชนชาวเมียนมาทุกคน
ชายไม่ประสงค์ออกชื่อคนหนึ่งแสดงความเห็นถึงเหตุการณ์นี้ว่า “ต่อไปความรุนแรงจะเกิดขึ้นกับชาวเมียนมา ไม่ว่าพวกเขาจะนับถือศาสนาใด แต่พวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับมัน” ในขณะที่ โมฮิบ อุลลาห์ (Mohib Ullah) ผู้นำท้องถิ่น กลับมองว่า การรัฐประหารอาจทำให้กองทัพมีอำนาจเด็ดขาดมากขึ้นในการช่วยเหลือชาวโรฮิงญา เขากล่าวว่า “เราไม่ชอบรัฐประหาร เราสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ทั้งรัฐบาลพลเรือน และทหารในเมียนมาต่างก็เป็นศัตรูของเราทั้งสิ้น เราได้แต่หวังว่าการยึดอำนาจครั้งนี้ กองทัพจะตัดสินใจคืนสัญชาติให้เราง่ายขึ้น เนื่องจากรัฐบาลของอองซาน ซูจีจำเป็นต้องปรึกษา และพูดคุยกับหลายฝ่ายก่อนตัดสินใจ”
กลุ่มชาวโรฮิงญาไม่ได้เพิกเฉยกับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นแม้พวกเขาจะไม่ได้อาศัยประเทศอีกต่อไป สหภาพนักศึกษาโรฮิงญาบังกลาเทศ ออกมาโพสต์ประณามการรัฐประหารผ่านเฟซบุ๊กว่า “ปลดปล่อยซูจี ปลดปล่อยประชาธิปไตย” นอกจากนี้ เมยู อาลี (Mayyu Ali) กวีหญิง และผู้นำเยาวชนโรฮิงญา ยังออกมาเรียกร้องให้ชาวเมียนมามีความสามัคคีในการต่อสู้กับกองทัพทหาร
การเปลี่ยนผ่านอำนาจในครั้งนี้ทำให้ความหวังในการกลับประเทศเมียนมาของชาวโรฮิงญาหลายคนริบหรี่ลงไปอีก ซาโฟ อาโลม (Zafor Alom) อิหม่ามในค่าย กล่าวว่า “เราจะกลับไปที่นั่นในตอนนี้ได้ยังไง แต่ฉันภาวนาให้เมียนมาเสมอ เพราะหัวใจฉันอยู่ที่นั่น” และเมื่อถามถึงอองซาน ซูจี ซาโฟตอบพร้อมรอยยิ้มที่เหนื่อยล้าว่า “ฉันเกิดประเทศเดียวกับเธอ ดังนั้นฉันอาจจะอธิษฐานเผื่อเธอด้วย”
อ้างอิงจาก
https://apnews.com/article/world-news-bangladesh-myanmar-9506980524e748baf577a085ae0f4d30
https://www.bbc.com/thai/international-50743093
#Brief #TheMATTER