คุณเคยได้ยินการตัดสินคดีทำนองว่า รัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง มีความผิดฐานไม่สามารถจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไหม อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงแล้วในฝรั่งเศส
ศาลในกรุงปารีส เพิ่งตัดสินให้รัฐบาลของตนเองมีความผิดฐาน “ไม่เคารพต่อการมีส่วนร่วม” ในด้านการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยคดีประวัติศาสตร์นี้ ถูกฟ้องผ่านกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติในฝรั่งเศส ซึ่งรวบรวมชื่อประชาชนได้กว่า 2.3 ล้านคน ในการยื่นฟ้องร้องครั้งนี้
ฌ็อง-ฟร็องซัวส์ จูเลียด์ (Jean-François Julliard) ผู้อำนวยการ Greenpeace ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวตั้งตัวตีของการฟ้องร้องในครั้งนี้ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “นี่คือชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ของความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม” จูเลียด์เปิดเผยว่า เขาอยากให้คำตัดสินดังกล่าว เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนทั้งโลก ที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อความยุติธรรมแก่สิ่งแวดล้อม
คำตัดสินของศาล ได้ระบุในท่อนหนึ่งว่า “(สิ่งที่รัฐบาลละเลย) ได้ส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศ อันเป็นคำร้องที่รับฟังได้” ศาลยังระบุอีกว่า “รัฐบาลควรรับผิดชอบต่อความเสียหาย หากไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
อย่างไรก็ตาม ตุลาการศาลได้เปิดโอกาสให้รัฐบาลฝรั่งเศสรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อทำการสืบสวนสอบสวน ต่อความผิดฐานละเลยการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปอีก 2 เดือน
ศาลฝรั่งเศสยังได้ชี้อีกว่า ปัญหาการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น เป็น “ประโยชน์ร่วมของสาธารณะ” หลังจากฝรั่งเศสได้ลงนามในข้อตกลงปารีส เมื่อ ค.ศ.2015 ว่าตนจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ ก่อน ค.ศ.2030 เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นกว่าเดิมเกิน 2 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ หากเราสำรวจค่าสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของฝรั่งเศสที่ผ่านมา จะพบได้ว่า ในช่วง ค.ศ.2018-2019 นั้น ฝรั่งเศสปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 0.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในความเป็นจริง ในช่วงปีดังกล่าว ฝรั่งเศสควรจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงอย่างต่ำ 1.5 เปอร์เซ็นต์ตามเป้า จนกว่าจะถึง ค.ศ.2025 และปล่อยลดลง 3.2 เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ ปีต่อไป หลังจากนั้น
รัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกมาปฏิเสธว่า ตนไม่มีความผิด อีกทั้งรัฐบาลยังได้ปฏิเสธคำตัดสินของศาล และเรียกร้องให้ศาลถอนคำตัดสินออก เนื่องจากรัฐบาลมองว่า ตนไม่ควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยตนเอง เช่นเดียวกับการที่รัฐไม่ได้มีผลรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER