นับเป็นเวลากว่า 5 เดือนที่เกษตรกรชาวอินเดียมากกว่า 1 แสนคน ออกมาประท้วงต่อต้านการออกกฎหมายใหม่ ที่เอื้อให้เกิดการผูกขาดสินค้าเกษตรเฉพาะกลุ่มนายทุน นำมาสู่การสนับสนุน และ Call Out ของเหล่าคนดัง รวมทั้งนักร้องชื่อดังริฮานนา และเกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม
ลำดับเหตุการณ์ เรื่องราวการต่อสู้ และเสียงเรียกร้องจากเหล่าคนดังจะเป็นอย่างไร The MATTER จะมาเล่าให้ฟัง
- เมื่อช่วงกันยายนของปี ค.ศ.2020 ระหว่างที่การระบาดของ COVID-19 กำลังอยู่ในช่วงน่าเป็นห่วง แต่รัฐบาลอินเดียกลับใช้ช่วงเวลาดังกล่าวผ่านร่างรัฐบัญญัติ 2 ฉบับ (จาก 3 ฉบับ) ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปฏิรูปเกษตรกรรม หลังหารืออย่างสั้นๆ ในสภา และไม่มีการปรึกษาเรื่องผลกระทบ และประโยชน์ใดๆ กับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรเลย
- การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีผลให้ตลาดเกษตรกรกลายเป็นตลาดเปิดเสรี จากเดิมที่รัฐบาลคอยควบคุมการขาย การตั้งราคา และเก็บผลผลิตเกษตร สิ่งเหล่านี้จะหายไป และภาคเอกชนจะสามารถนำผลผลิตไปขายในตลาดได้โดยตรง
- หากถามว่า การเปิดตลาดเสรีไม่ดีอย่างไร ? อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรทำอาชีพเกษตรกร มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ และที่ผ่านมาอินเดียซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านระบบของภาครัฐ หรือเรียกว่า ‘ตลาดมันดี’ (Mandi) ซึ่งถือเป็นการประกันราคาไม่ให้ต่ำเกินไป และควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไปภายในตัว ดังนั้นเกษตรกรเกือบทุกภาคส่วนจะมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง
- แต่เมื่อมีการเปิดระบบตลาดเสรี เกษตรกรจะต้องรับความเสี่ยงจากความขึ้นลงของอุปสงค์-อุปทาน ของตลาดแต่ในช่วงสูงมาก ตัวอย่างเช่น ในช่วงหน้าแล้ง ผลผลิตมีน้อย ราคาก็จะสูง แต่ในช่วงที่อุดมสมบูรณ์ ผลิตผลิตล้นตลาด เกินความต้องการของผู้บริโภค ราคาก็จะต่ำลง อีกทั้ง การเปิดตลาดเสรี ทำให้เกิดปรากฎการณ์การซื้อขายตัดราคากันในตลาด นั่นยิ่งทำให้เกษตรกรเผชิญปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำมากกว่าเดิม
- หลังร่างกฎหมายดังกล่าว เมื่อเดือนสิงหาคม ชาวไร่ชาวนามากกว่า 1 แสนคน ได้ออกมาเดินประท้วงตามท้อนถนนในรัฐปันจาบ (Punjab) และรัฐหรายาณา (Haryana) เพื่อให้รัฐบาลยุติการผ่านกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากมองว่าจะทำให้ชาวนา และเกษตรกรสูญเสียความมั่นคงทางอาชีพ รวมถึงเป็นการผูกขาดตลาดเกษตรให้เฉพาะกลุ่มนายทุน
- อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินเดียชี้แจงว่า การปฏิรูปนี้จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพตลาดเกษตรกรในประเทศ พร้อมยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้จะไม่ยกเลิกการประกันราคาสินค้าเกษตรแต่อย่างใด แต่ยกเลิกข้อจำกัดที่ห้ามบริษัท หรืองค์กรเอกชน ซื้อที่ดิน หรือตุนสินค้าเกินเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้ รัฐบาลยังเพิ่มข้อกำหนดใหม่ ห้ามเจ้าของที่ดิน ชาวไร่ ชาวนา เผาพืชเกษตรเพื่อปรับหน้าดิน ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซน์ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ชาวนาชาวไร่ต้องการยกเลิก เนื่องจากทำลายวิถีการทำเกษตรดั้งเดิม
- กูร์นาม สิงห์ (Gurnam Singh) หนึ่งในแกนนำผู้ประท้วง เปิดเผยกับสำนักข่าว BBC ว่า ตลาดเสรีใช้ได้ในประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นน้อย และมีการตรวจสอบมาก ซึ่งอินเดียไม่เป็นเช่นนั้น ขณะที่โยเกนทรา ยาดาฟ (Yogendra Yadav) ประธานพรรคสวาราช อินเดีย (Swaraj) ระบุว่า เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลรับรองการประกันราคาขั้นต่ำ เนื่องจากปัจจุบัน มีชาวไร่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ที่ ไม่สามารถขายสินค้าตามราคาที่กำหนดไว้
- การประท้วงที่ลากยาวมากว่า 6 เดือน นำมาซึ่งเหตุการณ์รุนแรงหลายต่อหลายครั้ง เมื่อปลายปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตา และยิงน้ำใส่กลุ่มผู้ประท้วงเพื่อสลายการชุมนุม ในขณะที่ผู้ชุมนุมก็ตอบโต้ด้วยการปาหินใส่เจ้าหน้าที่ และทำลายข้าวของสาธารณะ ก่อนที่ปลายเดือนมกราคม กลุ่มผู้ประท้วงจะเดินขบวนเข้ากรุงนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย และทำลายรั้วกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนทำให้เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่อีกครั้ง จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บกว่า 300 คน และมีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน
- จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 200 คน แต่การชุมนุมยังไม่ยุติลง และและลากยาวมาจนถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และความรุนแรงในการประท้วงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในหลายๆ รัฐ เพื่อควบคุมการเข้าถึงข้อมูล และป้องกันการส่งต่อข้อมูลการประท้วง
- นอกจากมีการบล็อกอินเทอร์เน็ต รัฐบาลอินเดียยังออกคำสั่งให้ทวิตเตอร์บล็อกบัญชีผู้ใช้ที่พูดถึงการท้วงประท้วงเกษตรกรของชาวอินเดียมากกว่า 250 บัญชี โดยให้เหตุผลว่า เป็นภัยคุกคามต่อความสงบของประเทศ การกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่ชอบธรรม
- เหตุการณ์ประท้วงที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่หลังปีใหม่ ส่งผลให้ดารา และนักเคลื่อนไหวหลายคนออกมา Call Out เพื่อเรียกร้องให้มีการเสนอข่าวประเด็นนี้อย่างจริงจัง รวมถึงศิลปินระดับโลก ริฮานนา (Rihanna) ได้ออกมาแชร์ข่าวจากสำนักข่าว CNN พร้อมทวิตข้อความว่า “ทำไมเราไม่พูดกันเรื่องนี้ล่ะ?” พร้อมติดแฮชแท็ก #FarmersProtest
- ขณะที่เกรต้า ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ก็ได้ออกมาแชร์ข่าวเดียวกัน พร้อมทวิตว่า “เราอยู่ข้างเดียวกับผู้ชุมนุม” นอกจากนี้ยังมีนักการเมือง และกิจกรรมอีกหลายๆ คน ทั้ง คลอเดีย เวบบ์ (Wlaudia Webb) สมาชิกรัฐสภาของอังกฤษ และมีนา แฮร์ริส (Mena Harris) หลานสาวรองประธานาธิบดีสหรัฐ ก็ออกมาสนับสนุนกลุ่มผู้ประท้วงเกษตรกรด้วย ซึ่งภายหลังรัฐบาลอินเดียกล่าวว่า การกระทำของกลุ่มคนดังเป็นเรื่องที่ไร้ความผิดชอบ
การประท้วงของเกษตรกรยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางการยืนข้อเรียกร้องของกลุ่มชาวนา และความหวังว่าจะมีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และไม่ผ่านการพิจารณาจากกลุ่มชาวนาผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/…/india-internet-cut…/index.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-india-55931894
https://www.nytimes.com/…/india-farmers-protests-delhi…
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2021332
https://curadio.chula.ac.th/Program-Detail.php?id=10427
https://twitter.com/GretaThunberg/status/1356694884615340037
https://twitter.com/rihanna/status/1356625889602199552
#Recap #TheMATTER