การข่มขืน และการเหยียดหยามทางเพศ ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และต้องผ่านการนำเสนออย่างระมัดระวัง ล่าสุด กระแสการเรียกร้องให้มีการยุติการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืนทางละคร และภาพยนตร์กลับมาอีกครั้ง หลังละครเรื่อง ‘เมียจำเป็น’ ฉายภาพความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการข่มขืน และการตอบสนองในแง่ลบของตัวละครต่อการถูกข่มขืนของเหยื่อ
(มีการเปิดเผยเนื้อหา และมีความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางเพศ)
ชาวเน็ตได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ละครเรื่องเมียจำเป็น ที่ฉายทางช่อง 3 ผ่านแฮชแท็ก #ข่มขืนผ่านจอพอกันที และ #แบนเมียจำเป็น หลัง EP ล่าสุด มีการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกาย และข่มขืนหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งภายหลังสามีของเธอแสดงท่าทีต่อต้าน และรังเกียจที่เธอผ่านการถูกข่มขืนมา
ก่อนหน้านี้ ละครเรื่องดังกล่าว ก็เคยถูกพูดถึงมาแล้วในประเด็นเดียวกันมาแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นในฉากหนึ่งที่ตัวละครชายลักพาตัวหญิงสาวตัวร้ายของเรื่องไปข่มขืน รวมถึงถ่ายคลิปวิดีโอเพื่อเก็บไว้ข่มขู่ และมีการเผยแพร่บางส่วนของคลิปวิดีโอผ่านละคร ซึ่งหลายคนมองว่า แม้แต่นางร้าย หรือคนไม่ดีเช่นไร ก็ไม่ควรต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์เช่นนี้ อีกทั้งตัวบทละครยังส่งเสริม(โดยไม่ตั้งใจ) ให้ผู้ชมมีค่านิยมว่าการที่ตัวร้ายเจอจุดจบไม่ดีถือเป็นเรื่องที่สมควร ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นพล็อตยอดนิยมของละครไทยเลยก็ว่าได้
แน่นอนว่าหลังจากกระแสนี้ถูกวิจารณ์ไปในวงกว้าง ชาวเน็ตได้แชร์คลิปเบื้องหลังคลิปหนึ่งที่มีการระบุว่า “เหตุการณ์การข่มขืนในละคร ทำมาเพื่อให้ผู้หญิงระมัดระวังตัว” นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ทำไมผู้หญิง, ผู้ชาย หรือเพศหลากหลายจึงต้องระมัดระวังตัว สิ่งที่ควรปลูกฝังคือการไม่ไปทำร้ายร่างกาย หรือล่วงละเมิดใครโดยไม่ยินยอมไม่ใช่หรือ ? อย่างไรก็ตาม ทางผู้จัดละคร ยังได้ออกมาชี้แจงผ่านทวิตเตอร์ว่า “ละครคือเรื่องเกินจริง เรื่องแต่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องจริง”
นอกจากประเด็นดังกล่าว โซเชียลยังพูดถึงบทละครที่มักวนเวียนอยู่กับเรื่องรักใคร่ และผลิตเนื้อหาแบบเดิมๆ ที่ให้ผู้หญิงตกเป็นเครื่องมือทางเพศ การถูกข่มขืนเป็นเรื่องน่ารังเกียจ และผู้หญิงที่ผ่านการบีบบังคับทางเพศกลายเป็นรอยด่างพร้อยของสังคม แทนที่จะมองว่าเธอ เขา หรือใครก็ตามล้วนเป็นเหยื่อจากการกระทำอันไม่รู้ผิดชอบชั่วดี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สุดท้ายผู้คนล้วนอยากรู้ว่าใครเป็นเหยื่อ มากกว่าใครเป็นผู้กระทำ
สำหรับอีกหนึ่งประเด็นที่มีการวิจารณ์กันมากคือ “ถ้าเป็นพระเอก โดนข่มขืนฉันก็ยอม” หลายคนมองว่าที่ผ่านมา ละครหลายๆ เรื่องเขียนบทมาให้การข่มขืนกลายเป็นเรื่องชอบธรรม เพียงเพราะผู้ก่อเหตุคือพระเอก (ต้องยอมรับว่าละครไทยผู้หญิงเป็นฝ่ายก่อเหตุข่มขืนก่อนยังน้อยมาก) และสุดท้ายก็ไม่ได้รับโทษตามกฎหมายพึงมี อีกทั้งยังได้รับการให้อภัยจากคนรอบข้าง เพียงเพราะรับผิดชอบการกระทำอันเลวร้ายของตัวเอง และบทละครที่ส่งเสริมความดีงามของการรับผิดชอบทำให้ผู้ชมบางส่วนคล้อยตาม และสรรเสริญว่าการกระทำเช่นนี้มัน “แมน” เหลือเกิน แทนที่จะมองว่าเหยื่อได้รับผลกระทบทางจิตใจเช่นไร ซึ่งหากจะโทษเพียงคนดูอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะน้อยครั้งนักที่ละครจะนำเสนอภาพผลกระทบเต็มๆ
The MATTER ได้พูดคุยกับ นิธิพันธ์ วิประวิทย์ เจ้าของเพจ ‘ข่มขืนผ่านจอ พอกันที’ ถึงประเด็นการผลิตซ้ำเนื้อหาเกี่ยวกับการข่มขืนและความรุนแรงผ่านหน้าจอโทรศัพน์ นิธิพันธ์มองว่า การข่มขืนเป็นอาชญากรรม แต่ ณ ตอนนี้สื่อกำลังทำให้เรื่องอาชญากรรมกลายเป็นเรื่องบันเทิงในช่วงสองทุ่ม ดังนั้นสิ่งแรกที่เราต้องถามคือ จุดยืนของสื่อต่อประเด็นนี้คืออะไร ในเมื่อทุกครั้งที่นำเสนอข่าวเรื่องการข่มขืน จะนำเสนอในมุมโศกเศร้าเสียใจ และพอเปลี่ยนรายการไป ก็นำเรื่องเหล่านี้มาเป็นตัวเรียกเรตติ้ง
นิธิพันธ์เล่าว่า เขารณรงค์เรื่องนี้มาหลายปี เขามีโอกาสเห็นผลข้างเคียง (Side Effect) ที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่เนื้อหาการข่มขืนผ่านตัวละคร เหยื่อในชีวิตจริงหลายคนไม่ได้ผ่านช่วงเวลาเลวร้ายไปโดยง่ายเหมือนละครจบ ทุกอย่างจบ แต่ความเจ็บปวดเหล่านี้มันอยู่กับพวกเขาไปเกือบตลอดชีวิต เขา และเธอเหล่านั้นรู้สึกว่าตนเองแปดเปื้อน สังคมรังเกียจ ดังนั้นละครควรนำเสนอในมุมอื่นดีกว่าไหม เช่น การให้กำลังใจเหยื่อ การสร้างความเชื่อมั่นให้เหยื่อ ให้พวกเขากล้าออกมาต่อสู้กับคนที่ทำเลวร้ายกับเขา และเราจะอยู่คอยข้างๆ ให้กำลังใจ
“ที่ผ่านมา สังคมไทยเราเจอข่าวเกี่ยวกับการข่มขืนทุกวัน และอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ครั้งหนึ่งเคยมีข่าวลูกเสือบังคับล่วงละเมิดทางเพศเนตรนารี แต่กลับมีคอนเมนต์จากผู้ปกครองว่า ไม่ใช่การข่มขืน เพราะยังไม่ได้สอดใส่ หรือเป็นเรื่องหยอกเล่นกัน คำถามคือเด็กเหล่านั้นเอาค่านิยมว่าการข่มขืน = ลงโทษมาจากไหน นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งไปเขียนนิยายในเว็บไซต์ของจีน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่พระเอกข่มขืนนางเอก คนจีนต่างมาวิจารณ์มากมายว่าทำไมจึงผลิตงานเช่นนี้ออกมา”
นิธิพันธ์กล่าวว่า “สิ่งเหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของการเลี้ยงดูเยาวชนในประเทศ ถามว่าเด็กหญิงคนนั้นสร้างอาชญากรรมหรือไม่ เปล่าเลย เธอไม่ได้ทำ เธอเพียวแค่เติบโตในสังคมที่หล่อหลอมมาเช่นนี้ ดังนั้นมันเป็นหน้าที่ของเราทำคนที่จะออกมาเรียกร้องเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าให้กับเยาวชน”
แน่นอนว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ นำมาสู่การตั้งคำถามว่าการผลิตเนื้อหาที่สะท้อนสังคมยังจำเป็นและเหมาะสมกับยุคสมัยอยู่หรือไม่ จะดีกว่าไหมถ้าวงการบันเทิงประเทศเราเปลี่ยนมานำเสนอเรื่องราวพัฒนาสังคมมากขึ้น เช่น มุมมองอาชีพต่างๆ หรือพล็อตละครที่มีความเกี่ยวข้องกับความพยายามของคน มากกว่าการแก่งแย่งชิงความรักของคู่พระนาง หรือหากเลือกจะนำเสนอในแง่มุมเช่นนี้ต่อไป ก็ควรทำให้ความรักเหล่านั้นไม่กลายเป็นความรักที่ทำร้ายผู้ชมเช่นนี้
อ้างอิงจาก
https://web.facebook.com/…/a.448679511…/1468285253364959
https://www.matichon.co.th/entertainment/news_2569414
https://www.thairath.co.th/entertain/news/2027352
#Brief #TheMATTER