นับเป็นเวลา 4 ปีที่มีการผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ปฏิรูปตำรวจเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งร่างฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนวงการตำรวจไทย ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนานว่าเป็นอีกหนึ่งโครงข่ายอาชีพราชการที่พบการทุจริตและใกล้ชิดกับภาคการเมืองมากที่สุด
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นร่างที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ดังนั้นจึงจะมีการส่งรายละเอียดต่างๆ ทั้งความเห็น และข้อเสนอแนะไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประสานการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการของรัฐสภาต่อไป ซึ่งตามกำหนดแล้ว คาดว่า จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ในวันประชุมรัฐสภา ที่ 9 กุมภาพันธ์
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ปฏิรูปตำรวจ ที่จะส่งผลโดยตรงถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 2 แสนนายทั่วประเทศ มีดังนี้
- โอนภารกิจเฉพาะทาง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจโดยตรงเป็นผู้ดำเนินการ โดยเบื้องต้นจะกำหนดหน้าที่และอำนาจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ไว้เช่นเดิม แต่มีการกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของ ตช. อาทิ ตำรวจรถไฟ, ตำรวจป่าไม้ หรือจราจรไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นรับผิดชอบโดยตรง
- สถานีตำรวจเป็นหน่วยงานให้บริการความยุติธรรมโดยตรง โดยมีการกำหนดให้มีการจัดสรรเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เหมาะสมความจำนวนประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังกำหนดระดับของสถานีตำรวจออกเป็น 3 ระดับ คือ สถานีตำรวจที่มีผู้บังคับการ สถานีตำรวจที่มีรองผู้บังคับการ และสถานีตำรวจที่มีผู้มีตำแหน่งเทียบเท่า โดยการกำหนดจะคำนึงถึงปริมาณความจำเป็นของแต่ละพื้นที่เป็นหลัก เพื่อให้สถานีตำรวจในแต่ละท้องถิ่นมีจำนวนข้าราชการตำรวจในปริมาณที่เหมาะสม
- กำหนดเกณฑ์ในการแต่งตั้ง และโยกย้าย ข้าราชการตำรวจชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อขจัดการใช้เส้นสาย โดยข้อนี้ มีการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อย ดังนี้
– แบ่งสายงานออกเป็น 5 กลุ่ม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตรงกับความความเชี่ยวชาญตามสายงานอย่างแท้จริง
– กำหนดหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้ง และเลื่อนตำแหน่งอย่างชัดเจนว่าการจะขึ้นดำรงตำแหน่ง A ได้นั้น จะต้องผ่านการดำรงตำแหน่งใดมากก่อน รวมถึงมีประสบการณ์มาแล้วกี่ปี และในการแต่งตั้งใดๆ จะต้องคำนึงถึงความอาวุโสในการดำรงตำแหน่งเป็นหลัก เพื่อลดความอคติ และลดการใช้ดุลพินิจส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา
– กำหนดหลักเกณฑ์ของขั้นตอนการแต่งตั้ง และการเลื่อนตำแหน่งของสายงานสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความก้าวหน้าในสายอาชีพของตน
– ห้ามย้ายข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่นโดยพลการ เพื่อเป็นการอำนายความสะดวกแก่ประชาชนที่ต้องการใช้บริการในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดบทลงโทษเพิ่มเติมว่า ผู้ใดที่ติดสินบน หรือแอบอ้างอำนาจของผู้อื่นในการเรียก หรือรับทรัพย์สินใดๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะอวดในการแต่งตั้งข้าราชการ หรือขัดขวางไม่ให้มีการแต่งตั้ง ถือเป็นการกระทำที่มีความผิดทางกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
- เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (ก.ตร.) ให้มีหน้าที่กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์บริหารตำรวจ และดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) นอกจากนี้ยังมีส่วนในการกำหนดนโยบายและมาตรฐาน รวมถึงจัดระบบการบริหารบุคลากรข้าราชการตำรวจ โดยดูแลในส่วนของการแต่งตั้ง และโยกย้ายเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข พ.ร.บ. ฉบับนี้
- ตั้งหน่วยงานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) เพื่อถ่วงดุลอำนาจ ก.ตร โดยมีหน้าที่รับคำร้องทุกข์จากข้าราชการตำรวจที่เกิดจากการใช้อำนาจในเชิงมิชอบของผู้บังคับบัญชา และมีหน้าที่เสนอแนะต่อ ก.ตร. เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่อไป โดยนายกฯ จะแต่งตั้งทั้งหมด 7 คนขึ้นจากการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือก ก.พ.ค.ตร. อีกทีหนึ่ง
- ตั้งหน่วยงานคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ซึ่งทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชนที่ได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมจากข้าราชการตำรวจ โดยมีที่มาจากนายกฯ แต่งตั้งจากบุคคลซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมจำนวน 9 คน และมี จเรตำรวจแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ
- ให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดระบบบริหาร ตช. โดยกำหนดให้ ตช. มีระบบบริหารงานที่สอดคล้องกับความเป็นไปของแต่ละชุมชน เพื่อให้เกิดการทำงานที่เป็นเอกภาพ นอกจากนี้ กำหนดให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่สถานีตำรวจ โดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
- จัดตั้งกองทุนเพื่อการสืบสวน สอบสวน ป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดทางอาญา เพื่ออำนวยค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่
- ปรับปรุงบัญชีอัตราเงินเดือนให้สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงของเงินเดือนข้าราชการตำรวจ โดยตัดอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในระดับที่ไม่มีการรับออก อย่างไรก็ตาม ไม่มีกำหนดปรับขึ้นอัตราเงินเดือนแต่อย่างใด
สำหรับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีการปรับปรุงให้เป็นไปตามมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2563 ที่มีวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และหากเป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการการตำรวจคาด วันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการนำประเด็นดังกล่าวเข้าหารือกับที่ประชุมรัฐสภา โดยณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ เปิดเผยว่า รายละเอียด ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนว่าหากแก้ไขแล้วจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างไร ดังนั้นจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด
ทั้งนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่คาดว่าจะมีการพูดถึงในการประชุมรัฐสภาคือ ข้อกังขาเกี่ยวกับการรับตำแหน่งของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีความสนิทสนมกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ หรือ บิ๊กแดง อดีตผู้บัญชาการทหารบก และยังเป็นนักเรียนรุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งอาจมีส่วนผลักดันให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ขึ้นสู่ตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพล.ต.อ.สุวัฒน์ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 36 ที่ได้เป็น ผบ.ตร. คนที่ 2 ซึ่งรับตำแหน่งต่อจากเพื่อนร่วมรุ่น
อ้างอิงจาก
https://www.ryt9.com/s/cabt/3192618
https://www.thaipost.net/main/detail/92215
https://mgronline.com/news1/detail/9640000011483
#Brief #TheMATTER