ประเทศประชาธิปไตยควรตอบโต้การทำรัฐประหารอย่างไร ล่าสุด สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดี ได้ออกคำสั่งโดยตรงเพื่อทำการคว่ำบาตรพม่าแล้ว
การประกาศคว่ำบาตรในครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวานที่ผ่านมา (10 กุมภาพันธ์) ภายหลังจากการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพพม่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ภายใต้การนำของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จากรัฐบาลที่มีความชอบธรรมของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) โดยมี อองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐเป็นผู้นำ
“กองทัพจะต้องสละอำนาจที่ตัวเองเข้ายึดครอง และสร้างความเคารพแก่สิทธิเสียงของประชาชนชาวพม่า” ไบเดนกล่าว หลังจากที่ตนได้ลงนามในคำสั่งโดยตรง อันเป็นคำสั่งภายใต้อำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องผ่านการพิจารณาของสภาหรือศาล
นอกจากนี้ ไบเดนยังได้ประกาศตัดช่องทางการเข้าถึงทรัพย์สินจากรัฐพม่าในสหรัฐฯ ของนายพลพม่า ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) โดยไบเดนกล่าวว่า หากกองทัพพม่ายังคงยึดครองอำนาจต่อไป สหรัฐฯ ก็พร้อมจะมีมาตรการที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ไบเดนจะให้ทีมงานของทำเนียบขาวรวบรวมข้อมูลเป้าหมายที่สหรัฐฯ จะทำการคว่ำบาตรใส่ในปลายสัปดาห์นี้ เพราะเขาไม่ต้องการจะให้การคว่ำบาตรในครั้งนี้กระทบต่อโครงการด้านสาธารณสุข กลุ่มภาคประชาสังคม และประชาชนที่อาจเสียผลประโยชน์ในบางพื้นที่ของพม่า
“ประชาชนชาวพม่าได้ส่งเสียงของพวกเขาจนเป็นที่ได้ยินแล้ว และโลกกำลังมองดูพวกเขาอยู่” ไบเดนแถลงเพิ่มเติม “เราพร้อมที่จะมีมาตรการตอบโต้ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น และเราจะเดินหน้าทำงานร่วมกันกับมิตรในระดับนานาชาติของเรา เพื่อเรียกร้องให้ชาติต่างๆ เข้าร่วมการคว่ำบาตรในครั้งนี้”
ทั้งนี้ทั้งนั้น นี้เป็นการประกาศคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อนายพลพม่าเพิ่มเติม เนื่องจากแต่เดิม ในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีคนก่อน มีการประกาศคว่ำบาตรนายพลพม่าหลายคนไปแล้ว จากกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่
ในปัจจุบันนี้ การประท้วงต่อต้านการรัฐประหารในพม่ายังคงดำเนินหน้าต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองทัพของพม่า ได้มีการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราบผู้ชุมนุมทั้งใน ย่างกุ้ง เนปิดอว์ มัณฑะเลย์ และบริเวณอื่นๆ ของพม่า แต่การใช้ความรุนแรงต่างๆ กลับไม่ได้ทำให้การประท้วงลดขนาดลงได้
ในทางเดียวกัน ก่อนหน้านี้ นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่ได้ออกมาประกาศตัดความสัมพันธ์ระดับสูง และแบนการเดินทางเข้านิวซีแลนด์ของนายพลพม่า โดย จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์แถลงเพิ่มเติมว่า เธอจะใช้มาตรการต่างๆ เท่าที่ทำได้ เพื่อให้มั่นใจว่านิวซีแลนด์จะไม่มีการปฏิบัติใดๆ ที่เอื้อต่อนายพลพม่าว่า “สิ่งแรกที่เราจะทำคือ การตัดบทสนทนาระดับสูงต่อกันและกัน… และเราจะต้องมั่นใจได้ว่า เงินช่วยเหลือใดๆ จากนิวซีแลนด์จะไม่ถูกส่งไปที่มือของระบอบกองทัพพม่า”
หมายเหตุ มีการแก้ไขพาดหัวและเนื้อหาของข่าว (13.07 น.)
อ้างอิงจาก
https://apnews.com/article/biden-orders-sanctions-myanmar-coup-a078bebbe37d104d5a793408e710fdaa
#Brief #TheMATTER