ถึงแม้ว่าสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ดูจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยวันนี้ เราเพิ่งมีข่าวดีใหม่มาบอก เพราะนักวิทยาศาสตร์พบว่า ชั้นโอโซนได้กลับมาฟื้นฟูแล้ว หลังจากถูกสาร CFC ทำลายมาอย่างยาวนาน
การค้นพบครั้งนี้เป็นข่าวดีต่อมวลมนุษยชาติ หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์พบว่าชั้นโอโซนค่อยๆ ปรับตัวกลับมาเป็นปกติมากขึ้น เมื่อมีการหยุดการปล่อยสาร CFC หรือคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ออกสู่ชั้นบรรยากาศ อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานการตรวจวัดชั้นบรรยากาศ (Atmospheric measurements) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ.2018 ว่า พบการแอบลักลอบการปล่อยสาร CFC ทางฝั่งตะวันออกของจีน ในขณะที่ประเทศอื่นทั่วโลกได้ทยอยหยุดการใช้สาร CFC กันแล้ว
เนื่องจากโลกเราต้องรับแสงจากดวงอาทิตย์ ซึ่งมีรังสี UV ตามมาเป็นของแถมด้วย ชั้นโอโซนจึงมีหน้าที่ในการช่วยกรองรังสี UV ไม่ให้ตกกระทบลงมายังโลกโดยตรง และรังสี UV นี้นี่เอง ที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ที่อาศัยอยู่บนพื้นผิวโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์อย่างเราๆ เนื่องจากรังสี UV ส่งผลกระทบต่อ DNA โดยตรง และอาจทำให้เกิดอาการผิวไหม้ จนอาจเป็นปัจจัย ที่เพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งผิวหนังในระยะยาว
สาร CFC ถูกใช้อย่างเป็นวงกว้างในตู้เย็น และสารขับดันในกระป๋องสเปรย์ โดยมนุษย์ตระหนักได้ว่า มันส่งผลต่อชั้นบรรยากาศอย่างโอโซน เมื่อราวทศวรรษที่ 1980 ก่อนจะมีการแบนการใช้สาร CFC เมื่อ ค.ศ.1987 ภายใต้ข้อตกลงในพิธีสารมอนทรีออล ซึ่งมีหลายประเทศทั่วโลกลงนามเพื่อเลิกการใช้สารดังกล่าว
ในทางเดียวกัน มีรายงานผลการวิจัยเมื่อ ค.ศ.2019 ว่ามีอัตราการใช้ CFC ลดลงอย่างเห็นได้ชัด สืบเนื่องจากการแบนการใช้สาร CFC ที่เป็นรูปธรรมในช่วง ค.ศ.2010 อย่างไรก็ดี กลับมีผลการวิจัยใน ค.ศ.2018 ว่า ความเข้มข้นของ CFC บนชั้นอากาศ ดันไม่ลดลงอย่างรวดเร็ว อย่างที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้ สร้างความสงสัยให้พวกเขาว่า เพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่มีการแบนการใช้ CFC แล้ว แต่ความเข้มข้นของมันบนชั้นโอโซน กลับไม่ลดลงอย่างรวดเร็ว
“นั้นคือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เราอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น” ลูค เวสเทิร์น (Luke Western) หนึ่งในทีมนักวิจัยเรื่องชั้นบรรยากาศกล่าว “งานวิจัยที่ผมเข้าไปร่วมด้วยพบว่า การปล่อย CFC หลักๆ โผล่มาจากบริเวณตะวันออกของจีน” อย่างไรก็ตาม เวสเทิร์นกล่าวว่า สถานการณ์การฟื้นฟูของชั้นโอโซน “กลับมาเข้ารูปเข้ารอยแล้ว”
เวสเทิร์นและทีมวิจัย ตั้งศูนย์วัดค่าชั้นบรรยากาศอยู่ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งผลการตรวจวัดของพวกเขา สอดคล้องกันกับผลขององค์กรตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Investigation Agency หรือ EIA) และนักข่าวด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า CFC ในจีนถูกในโพลียูรีเทนโฟม หรือฉนวนกันความร้อนตระกูลโพลิเมอร์ ถูกผลิตออกมาในรูปแบบน้ำยาเคมีเหลว ซึ่งสามารถนำไปฉีดพ่นเพื่อติดตั้งที่พื้นผิว ก่อนจะเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็ง โดยมันถูกใช้เป็นจำนวนมากในจีน ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ไม่ทราบจำนวนการใช้ที่แน่ชัด เพราะมีการแอบลักลอบใช้งานเป็นจำนวนมาก
“และเราพบว่า ใน ค.ศ.2019 ค่าก๊าซเรือนกระจกตกลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเทียบกับ ค.ศ.2013 ตั้งแต่เราเคยเห็นตัวเลขเหล่านี้” เวสเทิร์นกล่าวเสริม ในขณะที่เขาชี้ว่า ชั้นโอโซนทั่วโลกกลับมามีสภาพที่ดีขึ้น แต่โอโซนบริเวณจีนกลับยังดูไม่ดีขึ้น “ในช่วงท้ายศตวรรษนี้ เราควรจะเห็นการฟื้นฟูของชั้นโอโซนกลับไปยังระดับที่เราเคยเห็นใน ค.ศ.1980”
อ้างอิงจาก
https://www.nature.com/articles/s41586-019-1193-4
#Brief #TheMATTER