ปรากฎการณ์ Clubhouse แตกได้เกิดขึ้นแล้ว หลังอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาเซอร์ไพรซ์ในห้องสนทนา ‘ไทยรักไทย ใครเกิดทัน มากองตรงเน้!’ ในชื่อ @tonywoodsome จนทำให้ห้องดังกล่าวมีจำนวนผู้เข้าฟังเต็ม 8,000 คนอย่างรวดเร็ว
สำหรับใครที่พลาดว่าทักษิณพูดอะไรบ้าง The MATTER จะมาสรุปความทั้งหมดให้ทัน
- ‘นโยบายสมัยไทยรักไทย’ เป็นหัวข้อสำคัญที่อดีตนายกทักษิณเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์ในวันนี้ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดก็คือ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค
- โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ก่อตั้งในสมัยที่พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ทักษิณได้ตามคำถามถึงประเด็นข้อกังขาเรื่องการออกนโยบายประชานิยมว่า ที่ผ่านมาหลายฝ่ายมองว่าการออกนโยบายดังกล่าวเป็นการตามใจประชาชน แต่ตนมองว่านโยบายส่วนนี้รัฐบาลจะสามารถจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอสำหรับทุกฝ่ายได้ และไม่เป็นการใช้จ่ายเกินศักยภาพของสถานะการคลัง
- อีกทั้งนโยบายเหล่านี้จัดเป็นนโยบายที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง และยังทำให้เศรษฐกิจ รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยมีความยืดหยุ่น และทำให้เศรษฐกิจแข็งแรงไปได้อีกหลายตัว จะเห็นได้ชัดว่าหลังจากมีการปฏิวัติรัฐประหาร เศรษฐกิจประเทศเริ่มถดถอย แต่โครงการเหล่านี้ยังอยู่ได้ เพราะมันไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการ (Welfare State) แต่เป็นลักษณะของการเพิ่มคุณภาพเรื่องปัจจัยสี่
- นอกจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทักษิณได้แชร์ประสบการณ์การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วง 3 ปีแรกว่าเขาใช้เวลาเหล่านั้นในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ให้ประชาชนฟัง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ แต่หลังจาก 3 ปีนั้น บรรยากาศการเมืองเริ่มเข้มข้นมากขึ้น มีการเดินขบวนต่างๆ ทำให้เวลาในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนลดน้อยลง ทุกอย่างเริ่มเกิดความไขว้เขวมากขึ้น
- การจัดการงบประมาณ เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่มีคนถามเข้ามา ทักษิณเปิดเผยว่า ตนเองเป็นผู้ที่เคารพวินัยการคลังอย่างมาก ต้องมีการกำหนดที่แน่นอนว่าในแต่ละปีจะขาดดุลไม่เกินเท่าไหร่ ต้องมีหนี้สาธารณะไม่เกินเท่าไหร่ สิ่งเหล่านี้รัฐบาลไทยรักไทยให้ความสำคัญเสมอมา สเต็ปต่อไปที่ทำคือการลดหนี้ เพิ่ม GDP ของประเทศ จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ.2548-2549 รัฐบาลไทยรักไทยสามารถทำงบประมาณขาดดุลเป็นงบประมาณสมดุลได้สำเร็จเป็นครั้งแรกหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
- ประเด็นเรื่อง Creative Economy หรือการทำเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ทักษิณกล่าวว่า เทรนด์ของโลก ณ เวลานั้น คือเทคโนโลยี และเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge Based Economy) ซึ่งตนคิดว่า คนไทยมีความศักยภาพอยู่ในตัว ดังนั้นหากมีสถาบันสอนคนกลุ่มนี้มันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในอนาคตคนไทยจะสามารถสร้างช่องทางทำมาหากินได้เอง จึงเกิดแนวคิดในการจัดตั้งโครงการ OTOP ขึ้นมา
- ในส่วนของพื้นที่สาธารณะแห่งการเรียนรู้ TCDC หรือ Material & Design Innovation Center ทักษิณเปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจากไอเดีย ‘เรามีสถานที่มั่วสุมในเชิงลบแล้ว ทำไมไม่สร้างสถานที่มั่วสุมในเชิงสร้างสรรค์ให้กับประชาชน’ ประโยคนี้ทำให้เกิดการก่อตั้งศูนย์เหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสมารวมตัวกันในทางสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อเขา
- โครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน หรือ ODOS (One District One Scholarship) ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ทุนการศึกษาโดยนำเงินจากหวยมาแบ่งปัน ทักษิณกล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากการที่ตนเองทำนโยบายเรื่องหวยบนดินมาก่อน และพบว่ามันสามารถทำเงินได้มหาศาล ในอดีตเงินเหล่านี้เคยอยู่ในมือของกลุ่มนักเลงทั้งหลาย เราจึงตัดสินใจเอาธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน แล้วมอบหมายหน้าที่ให้กองสลากทำ จากนั้นเราเก็บเงินส่วนนี้ได้ และจัดการให้เงินก้อนนี้กลับไปสู่ประชาชน ผ่านทางทุนการศึกษาเด็กเรียนดี ซึ่งนโยบายนี้มาจากความคิดที่ว่า “เงินมาจากเงินโง่ๆ เราเอากลับไปสร้างคนให้ฉลาดดีกว่า”
- ‘One Laptop Per Child’ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับทั้งเสียงชื่นชม และเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก ทักษิณกล่าวว่า หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับโครงการนี้ในสมัยนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ไอเดียแรกเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยตนยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งมาจากความคิดที่ว่า ไม่ว่าเด็กจะเกิดในเมืองใดๆ ก็ตาม เด็กเหล่านั้นมีทักษะแรกเริ่มที่ใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือโอกาสในการพัฒนา ดังนั้นโครงการนี้จะทำให้เด็กไทยไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเข้าถึงห้องสมุดโลกได้
- ในช่วงครึ่งหลังการแชร์ความเห็น หนึ่งในผู้ฟังได้ยกมือถาม ทักษิณ ถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและข้อเรียกร้องของคณะราษฎร ซึ่งเขาได้ย้ำว่าควรยึดวิถีเจรจาเป็นหลัก แต่ “สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่ต้องเคารพ”
- ‘ผมจำไม่ได้ แต่เสียใจ’ คือเนื้อหาหลักของข้อความที่ทักษิณตอบถึงประเด็นความรุนแรงที่พรากชีวิตประชาชนและเจ้าหน้าที่ไปทั้งหมด 108 ราย ในเหตุกาณณ์มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี และการสลายการชุมนุมในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส
- หลังจากคำถามที่ทำให้บรรยากาศอึดอัดขึ้นเล็กน้อย แยม – ฐาปนีย์ เอียดศรีชัย นักข่าวจาก The Reporter ได้ชวนทักษิณระลึกถึงนโยบายเก่าๆ อย่าง ‘ทัวร์นกขมิ้น’ ที่คณะรัฐมนตรีเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ ชนิดค่ำไหนนอนนั่นเพื่อสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยทักษิณตอบว่าตนจำนโยบายนี้ได้ดี และกล่าวว่าเป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองต้องลงไปอาศัยกับชาวบ้าน เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงความต้องการของชาวบ้านจริงๆ
- “แก้ความจน เหมือนยากแต่ไม่ยาก” ทักษิณกล่าวว่าวิธีการแก้ความจนคือสร้างโอกาสให้กับประชาชน อาทิ นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่ช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น ก่อนทิ้งท้ายเสียดายที่ตนต้องออกมาก่อน ถ้าได้อยู่จนครบวาระ 8 ปี รับรองว่า “ผมคงแก้ความจนได้หมดแล้ว”
- คำถามต่อไปมาจากผู้เข้าร่วมสนทนา โดยเขาถามถึงวิธีการเปลี่ยน Mindset ของข้าราชการว่าควรรับใช้ประชาชน ไม่ใช่มีอำนาจเหนือประชาชน ทักษิณตอบว่า ตนอยากสร้างให้สังคมไทยเหมือนสังคมตะวันตก กล่าวคือมีความเท่าเทียม และการสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ต้องใช้เวลาและต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง รวมถึงใช้พระเดชพระคุณควบคู่กันไป
- นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาฯ นายกฯ สมัยทักษิณ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุการณ์กรือเซะว่า ในเวลานั้นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการประกาศกฎอัยการศึก และกองทัพได้เข้าไปรับผิดชอบทุกอย่าง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไม่รับรู้เรื่อง
- หลังจากบรรยากาศอึมครึมขึ้นอีกครั้ง มีคำถามน่ารักๆ จากผู้ฟังขึ้นมาถึงชื่อ ‘Tony’ ที่ใช้ในแอคเคาท์ของทักษิณ และหนังสือที่เขาอ่านอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเขาก็ตอบว่าชื่อ Tony ได้มาจากอาจารย์สมัยเรียนปริญญาเอกที่สหรัฐฯ เพราะท่านพูดชื่อทักษิณไม่ได้ ส่วนหนังสือที่อ่านตอนนี้คือ ‘Autonomous Revolution – William Davidow’
- ทักษิณกลับมาตอบในประเด็นคนรุ่นใหม่อย่างน่าสนใจว่า เขาคิดว่า “การเมืองดีหรือเฮงซวยอยู่ที่รัฐธรรมนูญ” ในตอนที่ตนเป็นนายกฯ มีรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับประชาชน’ หรือ 2540 ทำให้บริหารงานได้ราบรื่น แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถูกร่างโดยคณะรัฐประหาร อย่างไรก็ย่อมไม่มีทางดีต่อประชาชน ก่อนชวนให้คนรุ่นใหม่ร่วมกันผลักดันร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นอีกครั้ง
- และเป็นอีกครั้งที่ทักษิณถูกถามถึงกรณีกรือเซะ ซึ่งในครั้งนี้ นพ.พรหมินทร์ ก็ตอบอีกครั้ง โดยชวนให้ศึกษาเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างรอบด้าน เพราะมันซับซ้อนมาก และที่ทักษิณไม่ตอบเพราะไม่อยากพาดพิงถึงใคร
- โดยในช่วงท้าย ดีกรีคำถามเริ่มร้อนแรงขึ้นและเริ่มแตะประเด็น ‘พระมหากษัตริย์’ โดยทักษิณได้ถูกถามว่า คิดอย่างไรกับข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัติรย์ของคนรุ่นใหม่ ในประเด็นนี้คุณทักษิณชี้ว่า “พระมหากษัตริย์มีประวัติศาสตร์กับประเทศไทยมายาวนาน การจะปรับกฎหมายให้ทันสมัยเป็นเรื่องสมควร แต่ควรให้รัฐสภาทำ”
- ในช่วงท้าย หนึ่งในผู้ฟังถามต่อถึงนโยบายของพรรคเพื่อไทยต่อกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งสังเกตได้ว่าทักษิณเลี่ยงตอบอย่างเห็นได้ชัด โดยเขากล่าวว่าตนอยู่ไกล ไม่มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองใดแล้ว ส่วนเรื่องมาตรา 112 “ขออนุญาตไม่ตอบเรื่องนี้ ไว้คุยกันเรื่องอื่น หรือไว้ไปคุยที่ลอนดอนค่อยตอบ”
- The Reporter ตัดสัญญาณถ่ายทอดไป
#Recap #TheMATTER #ทักษิณ #clubhouse #กรือเซะตากใบ