จะดีกว่าไหมถ้าทุกศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว ล่าสุด กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เตรียมสร้างศาสนสถานของ คริสเตียน ยิว และมุสลิม เอาไว้ในอาคารเดียวกัน เพื่อสะท้อนถึงความกลมเกลียวบนความแตกต่างอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย
อาคารดังกล่าวจะถูกสร้างขึ้นใหม่ ภายใต้ชื่อศาสนสถานว่า ‘churmosquagogue’ บนพื้นที่ของโบสถ์นักบุญเปโตรแห่งปีตริพรัทซ์เก่า ซึ่งได้รับความเสียหายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเบอร์ลินฝั่งตะวันออก ก่อนที่มันจะถูกรื้อไปใน ค.ศ.1964 ระหว่างช่วงสงครามเย็น ที่เบอร์ลินฝั่งตะวันออกถูกปกครองโดยรัฐบาลสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
‘วิหารแห่งความเป็นหนึ่ง’ ถูกออกแบบโดยบริษัทสถาปนิกเยอรมัน คุห์น มัลเวซซี (Kuehn Malvezzi) โดยผู้ก่อสร้าง จะเริ่มทำการวางศิลาฤกษ์วิหาร ในวันที่ 27 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ หลังจากโครงการดังกล่าวถูกวางแผนมานานกว่า 10 ปี ทั้งนี้ พวกเขาคาดการณ์ว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 4 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 47 ล้านยูโร (ประมาณ 1,710 ล้านบาท)
โรแลนด์ สโตล์เทอ (Roland Stolte) ผู้นำคริสเตียน ที่ปรึกษาในการสร้างวิหารแห่งความเป็นหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ว่า “ความคิดในการสร้างศาสนสถานแห่งนี้นั้นง่ายมาก เราต้องการสร้างวิหารเพื่อการสวดภาวนาและการเรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกัน ในขณะที่ต่างศาสนิกก็มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง” สโตล์เทอกล่าวเสริมว่า “เราต้องการสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่ ที่สะท้อนตัวตนของเบอร์ลินในทุกวันนี้”
ในขณะที่ แอนเดรียส์ นาชามา (Andreas Nachama) รับไบของศาสนายูดาห์ หนึ่งในที่ปรึกษาโครงการให้สัมภาษณ์ว่า การสร้างวิหารแห่งความเป็นหนึ่งในครั้งนี้ “เป็นมากกว่าแค่เรื่องเชิงสัญลักษณ์ มันคือการเริ่มต้นของยุคใหม่ ยุคที่พวกเราแสดงให้เห็นว่า มันไม่มีความเกลียดชังระหว่างพวกเราอีกแล้ว”
วิลฟรีด คุห์น (Wilfried Kuehn) สถาปนิกผู้ออกแบบวิหารแห่งความเป็นหนึ่ง เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า พวกเขาได้ออกแบบห้องหลักเอาไว้ทั้งหมด 4 ห้อง โดยจะเป็นห้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ของแต่ละ 3 ศาสนา ซึ่งจะมีพื้นที่และขนาดที่เท่ากัน แต่มีรูปทรงที่แตกต่าง และจะมีห้องโถงตรงกลาง ที่เชื่อมระหว่างห้องของทั้ง 3 ศาสนา ซึ่งเป็นสถานที่เอาไว้ให้ทุกศาสนิกได้เข้ามานั่งพูดคุยร่วมกัน
นอกจากสามศาสนาแล้ว วิหารแห่งความเป็นหนึ่งยังเปิดรับทั้งผู้ที่ไม่เชื่อในพระเจ้า ตลอดจนศาสนิกของศาสนาอื่นๆ เนื่องจากพื้นที่ของเบอร์ลินตะวันออกมีความเป็นรัฐฆารวาสที่ค่อนข้างสูง เพราะอดีตเคยถูกปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ ซึ่งเรื่องการนับถือศาสนานั้นถูกจำกัดโดยรัฐ สโตล์เทอ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า วิหารแห่งความเป็นหนึ่งจึงต้อง “หาภาษาใหม่ๆ เพื่อเปิดบทสนทนา ที่จะทำให้ผู้คนเข้าถึง และรู้สึกเชื่อมโยงเข้ากันได้”
ทั้งนี้ รัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นในกรุงเบอร์ลินได้บริจาคงบประมาณถึง 30 ล้านยูโร (ประมาณ 1.1 พันล้านบาท) เพื่อร่วมสร้างโครงการวิหารแห่งความเป็นหนึ่ง ให้เกิดขึ้นจริง โดยวิหารแห่งความเป็นหนึ่งยังได้เปิดการรณรงค์ และเปิดรับเงินบริจาคที่ได้มาอีก 9 ล้านยูโร (ประมาณ 330 ล้านบาท) ทั้งนี้ พวกเขายังเปิดให้ผู้คนสามารถเข้าไปบริจาคอิฐ เพื่อใช้ในการก่อสร้าง บนเว็บไซต์ของทางวิหารแห่งความเป็นหนึ่งด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/magazine-27872551
#Brief #TheMATTER