เพราะความผิดพลาดเพียงครั้งเดียว สามารถสร้างปัญหาใหญ่หลวงได้ ผู้หญิงชิลีมากกว่า 100 คน เปิดเผยว่าพวกเธอตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ เนื่องจากคลินิกสาธารณสุขของรัฐบาลทำงานผิดพลาด นำยาหลอกมาสลับเป็นยาคุมกำเนิด และแจกจ่ายไปยังท้องถิ่นต่างๆ
เมลาเนีย ริฟโฟ (Melanie Riffo) วัย 20 ปี หนึ่งในเหยื่อจากความผิดพลาดดังกล่าว เปิดเผยว่า เธอตั้งท้องในเดือนกันยายน ทั้งที่ก่อนหน้านี้กินยาคุมที่คลินิกสาธารณสุขในพื้นที่สั่งจ่าย และปฏิบัติตามคำแนะนำของพยาบาลอย่างเคร่งครัด แต่สุดท้ายเธอก็ตั้งท้อง
การตั้งครรภ์โดยไม่คาดคิดของเมลาเนีย และผู้หญิงอีกกว่า 100 คนเกิดขึ้นหลังจากพวกเธอกินยาคุม Anulette ที่หน่วยแพทย์ของรัฐสั่งจ่ายให้ จากนั้น 3 เดือนต่อมาก็มีการเรียกยาชนิดนี้ที่ผลิตในล็อต B20035 คืนหน่วยแพทย์ เพราะพบความผิดพลาดบางประการ
จากข้อมูลการเรียกคืนพบว่า ยาคุมในล็อต B20035 มีบางส่วนที่บรรจุชนิดยาผิดพลาด โดยนำเอามาหลอก (Placebo Effect) ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพป้องกันคุมกำเนิด มาสลับกับยาคุมกำเนิดแท้จริง
หลังจากเรื่องนี้เผยแพร่ออกไป ห้องปฏิบัติการ Silesia ซึ่งรับผิดชอบการผลิตยา Anulette ได้รีบออกมาเตือนถึงความผิดพลาดดังกล่าว แต่ไม่ได้มีมาตราการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มผู้ตั้งครรภ์ที่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด พร้อมทั้งระบุว่า นี่เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐควรมีการตรวจสอบยาอีกครั้งก่อนแจกจ่ายให้กับประชาชน
ขณะที่ Enrique Paris รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของชิลี ได้กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดพลาดของห้องปฏิบัติการ พร้อมทั้งยืนยันว่าจะมีการชดเชยผู้ตั้งครรภ์อย่างแน่นอน แต่จนถึงขณะนี้ มีเพียงผู้เสียหายบางรายเท่านั้น ที่ได้รับการเยียวยาทางจิตใจ
Anita Peña Saavedra ผู้อำนวยการองค์กรสิทธิการเจริญพันธุ์ Corporacion Miles ของชิลี กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ผู้หญิงในประเทศไว้วางใจยาที่ได้รับจากคลินิกของรัฐ เหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของห้องปฏิบัติการ Silesia เท่านั้น แต่ภาครัฐเองก็มีส่วนต้องรับผิดชอบ
จากคาดการณ์พบว่า จำนวนยาคุมที่มีปัญหาน่าจะมีประมาณ 267,000 กล่อง ซึ่งแจกจ่ายไปยังคลินิกสาธารณสุข 26 แห่งทั่วประเทศ ก่อนเรียกขึ้นกลับมา แต่นั่นช้าไปเสียแล้ว เพราะเบื้องต้น มีรายงานว่าหญิงสาวกว่า 112 คนที่ตั้งครรภ์จากการกินยาคุมที่ผิดพลาด นำมาสู่การเรียกร้องการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย
พอลลา อาวิลา (Paula Avila) ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและหัวหน้าองค์กรเพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิง (Women’s Equality Center) มองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการผ่านกฎหมายทำแท้งเสรี ไม่เช่นนั้น พวกเธอ (บางคน) จะต้องไปทำแท้งผิดกฎหมาย ซึ่งมันเป็นอันตรายต่อตัวเธอเอง
ขณะนี้การทำแท้งเสรีในประเทศชิลียังไม่เป็นที่ยอมรับทางกฎหมาย ยกเว้นในกรณีที่เป็นการตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืน, การตั้งครรภ์เป็นอันตรายต่อชีวิตของมารดา หรือเด็กทารกมีความผิดปกติเท่านั้นที่จะได้รับการอนุมัติให้ทำแท้งได้ ซึ่งนักเคลื่อนไหวหลายฝ่ายมองว่าควรมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกสถานภาพของเธอได้
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER