ปัญหาความยากจนยังคงมีอยู่ทั้งในทั่วทุกมุมโลก แต่ล่าสุด สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ออกมาประกาศในที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ว่า พวกเขาสามารถกำจัดความยากจนสุดขีดในจีนให้หมดไปได้แล้ว แถมความสำเร็จในครั้งนี้ ยังไม่มีชาติใดทำได้รวดเร็วเท่าตน
สีได้ขึ้นกล่าวในที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อวานนี้ (25 กุมภาพันธ์) ว่า จีนเพิ่งจะสามารถเอาชนะความยากจนสุดขีดได้ ตามเป้าหมายที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ ค.ศ.2013 ว่าภายใน ค.ศ.2020 ความยากจนสุดขีดของจีนจะต้องหมดไป สีได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ความสำเร็จในครั้งนี้ของจีน เป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากไม่มีชาติใดสามารถกำจัดความยากจนสุดขีดได้ ภายในเวลาอันรวดเร็วเท่าจีน
“ไม่มีประเทศใด ที่สามารถบรรลุความสำเร็จ ในกระบวนการบรรเทาปัญหาความยากจน ภายในระยะเวลาอันสั้นเท่านี้” สีกล่าวในที่ประชุม ที่มีการถ่ายทอดสดของช่อง CCTV ไปทั่วประเทศ “การกำจัดความยากจนสุดขีด ยังคงเป็นความมหัศจรรย์ของมวลมนุษยชาติ ที่สมควรได้รับการถูกบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ มันคือเกียรติสูงสุดของพรรคคอมมมิวนิสต์ และประชาชน” สีกล่าวเสริมถึงความสำเร็จของจีนในครั้งนี้
จากรายงานของซินหัว ซึ่งเป็นสำนักข่าวของรัฐบาลจีนระบุว่า จีนลงทุนด้วยเม็ดเงินกว่า 1.6 หมื่นล้านหยวน (ประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท) ตามแผนการ 8 ปี เพื่อกำจัดความยากจน อย่างไรก็ดี สีกล่าวว่า มีประชากรที่อยู่ในเกณฑ์ยากจนสุดขีดกว่า 98.99 ล้านคน ในพื้นที่ 832 เทศมณฑล ที่สามารถเลื่อนฐานะขึ้นมา ทำให้พวกเขาสามารถหลุดออกจากเกณฑ์ความยากจนสุดขีดได้ ด้วยรายได้ 4,000 หยวน (ประมาณ 18,700 บาท) ต่อปี จากนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์
ตลอดระยะเวลา 8 ปี ในการขึ้นมาเป็นผู้นำจีนของสี พรรคคอมมิวนิสต์กล่าวว่า ตนพยายามขจัดความยากจน ด้วยนโยบายการพัฒนาชนบท ตัวอย่างเช่น การส่งเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่น ไปแก้ไขปัญหาของประชาชนแบบบ้านต่อบ้าน หรือการให้ทุนกู้ยืมแก่ประชาชน นักวิชาการบางรายมองว่า มรดกของสี และอำนาจของเขาทรงพลังที่สุด นับตั้งแต่ เหมา เจ๋อตุง ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศจีนคอมมิวนิสต์ ใน ค.ศ.1949
มีรายงานจากโทรทัศน์ของพรรคคอมมิวนิสตืจีนว่า จีนมีผู้เสียชีวิตจากการเป็นอาสาสมัครแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้งจากสาเหตุของอุบัติเหตุ ความป่วยไข้ และความเหนื่อยล้าไปแล้วกว่า 1,800 คน โดยหนึ่งในนั้น คือ หวง เหวินซิว นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ที่สมัครเป็นอาสาสมัครแก้ไขปัญหายากจนในบ้านเกิดของเธอ ที่กวางสี เธอเสียชีวิตใน ค.ศ.2019 จากเหตุอุทกภัย ขณะมี่เธอมีอายุได้เพียง 30 ปี
อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้ชำนาญการด้านเศรษฐกิจ ที่ได้ตั้งข้อสงสัย ต่อเกณฑ์การวัดความยากจนสุดขีดของจีน ที่กำหนดว่า ผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 4,000 หยวนต่อปี ตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ให้ถือว่าไม่ใช่ผู้ยากจนสุดขีด ในทางตรงกันข้าม ทางการจีนไม่เคยมีการแถลงถึงวิธีการวัดประเมินทั้งรายได้ของประชาชน และมาตรฐานชี้วัดค่าเกณฑ์ความยากจนในจีนเลย
ทั้งนี้ รายได้ของผู้ยากจนสุดขีดในจีน กลับมีค่าเฉลี่ยของบุคคลต่อวันอยู่ที่ 1.69 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 51 บาท) ซึ่งต่างจากเกณฑ์รายได้ผู้ยากจนสุดขีดของธนาคารโลก (World Bank) ที่กำหนดรายได้ของบุคคลต่อวันอยู่ที่ 1.9 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 58 บาท) อย่างไรก็ดี หวู่ ชีอัง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ของจีนมองว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นความพยายามในการขจัดข้อกล่าวหาด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ด้วยการรักษาสถานะความมั่นคงของสังคมจีน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจเอาไว้
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-56194622
#Brief #TheMATTER