กระแสการเรียกร้องความเท่าเทียม และการปฏิรูปตำรวจเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ เช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ เมื่อหลังเกิดเหตุสลดจนทำให้ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) เสียชีวิต จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ แต่ล่าสุด สภาล่างของสหรัฐฯ ได้ลงมติผ่านกฎหมายปฏิรูปตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ความริเริ่มในครั้งนี้ เป็นผลลัพธ์จากการเสียชีวิตของฟลอยด์ ผู้บริสุทธิ์ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อสงสัยว่าเขาอาจเกี่ยวข้องกับการใช้ธนบัตรปลอม ในการซื้อสินค้าจากร้านค้า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมตัวเขาด้วยกุญแจมือ ก่อนที่จะกดคอเขาลงกับบริเวณพื้นด้วยเข่า จนฟลอยด์ขาดอากาศหายใจเสียชีวิต โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ นำมาซึ่งขบวนการ Black Lives Matter ตลอดจนการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจในสหรัฐฯ
กฎหมายฉบับนี้ ถูกตั้งชื่อว่า ‘กฎหมาย จอร์จ ฟลอยด์ ว่าด้วยความยุติธรรมในกิจการตำรวจ’ (George Floyd Justice in Policing Act) เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ฟลอยด์ ซึ่งนับได้ว่า เป็นกฎหมายของสหรัฐฯ ที่มุ่งเป้าหมายไปที่การปฏิรูปตำรวจในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ หรือสภาล่าง ได้ทำการลงคะแนนเสียงผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนน 220-212 คะแนน อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้จะถูกส่งต่อไปยังสมาชิกวุฒิสภา เพื่อทำการพิจารณาผ่านกฎหมายและประกาศใช้ต่อไป
เนื้อหาของกฎหมายว่าด้วยการห้ามการล็อกคอผู้ต้องหา เพื่อให้ขาดอากาศหายใจ การปรับ ‘มาตรฐานการพ้นผิด’ ของเจ้าหน้าที่ผู้ถือกฎหมาย การไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยบนฐานของเชื้อชาติและศาสนา และการสร้างค่ามาตรฐานระดับชาติ แก่กิจการตำรวจ ให้เจ้าหน้าที่ได้มีส่วนรับผิดชอบ ต่อการกระทำของตน ขณะปฏิบัติหน้าที่ ด้วยระบบการติดตามความประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยสามารถเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบได้ทั้งในทางแพ่งและอาญา
อย่างไรก็ดี สหภาพตำรวจ และกลุ่มผู้บังคับใช้กฎหมายหลายฝ่าย ต่างออกมาโต้แย้งกฎหมายฉบับดังกล่าวว่า หากไม่มีการคุ้มกันทางกฎหมาย จะทำให้คนไม่กล้าสมัครเข้ามาเป็นตำรวจ ถึงแม้ว่าในกฎหมายจะระบุว่า การฟ้องร้องเอาผิดจะทำได้ต่อผู้บังคับใช้กฎหมาย มากกว่าลูกจ้างในองค์กรสาธารณะอย่างองค์กรตำรวจในกรณีดังกล่าว
โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ออกมาให้ความเห็นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (3 มีนาคม) ว่า “เพื่อที่จะทำให้สังคมของเราปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เราควรจะเริ่มการสร้างความเชื่อใจ ระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย และประชาชน ประชาชนต่างต้องการความมั่นใจ ว่าจะได้รับการบริการ และการปกป้องจากเจ้าหน้าที่” ไบเดนกล่าวเสริมอีกว่า “เราไม่สามารถสร้างความไว้วางใจได้ หากเราไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความรับผิดชอบ จากการใช้อำนาจที่ล้นเกิน และการประพฤติผิดไปจากระบบ รวมถึงปัญหาการเหยียดผิวในเชิงโครงสร้างในสำนักงานตำรวจ”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการผ่านกฎหมาย จอร์จ ฟลอยด์ ในสภาล่างของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ จะเป็นเพียงแค่ก้าวแรกในการปฏิรูปตำรวจของสหรัฐฯ แต่กฎหมายฉบับดังกล่าว ยังต้องรอการพิจารณาจากสภาบนอย่างวุฒิสภา ซึ่งมีเสียงของพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกัน 50-50 ทั้งนี้ การผ่านกฎหมายฉบับดังกล่าวได้นั้น ต้องอาศัยจำนวนเสียงของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด 60 เสียง หรือก็คือเสียงจากพรรครีพับลิกันอีก 10 เสียง
อ้างอิงจาก
#Brief #TheMATTER