เพราะความเท่าเทียมทางเพศ ส่งผลให้โลกก้าวเดินไปข้างหน้า ล่าสุด อุซเล็ม ตุเรชี (Özlem Türeci) ผู้ร่วมก่อตั้งและผลิตวัคซีน COVID-19 ของ BioNTecH ออกมากล่าวว่า วัคซีน COVID-19 คงถูกผลิตออกมาได้ล่าช้ากว่านี้ หากในองค์กรของเธอขาดความเท่าเทียมทางเพศ
ในงานวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคม (ตามเวลาท้องถิ่น) ตุเรชีได้ยกความดีความชอบ ในการผลิตวัคซีนของ Pfizer และ BioNTecH ที่มีความรวดเร็ว ให้แก่กำลังแรงงานของผู้หญิงใน BioNTecH ที่คิดเป็นอัตราส่วนกว่าครึ่งของพนักงานทั้งหมด อีกทั้งเธอยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดทอนบทบาทการตัดสินใจของผู้หญิงในองค์กรเภสัชกรรม “กำลังทำลายคุณค่า” ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในองค์กรทั้งหมด
ตุเรชีกล่าวเสริมว่า ในวงการการดูแลผู้ป่วย การทดลองทางเภสัชศาสตร์ ตลอดจนธุรกิจด้านเภสัชกรรม ยังคงขาดความเท่าเทียมทางเพศอยู่ และเรื่องเหล่านี้ “พบเห็นได้ในทุกวัน” เธอกล่าวอีกว่า “ ยิ่งมีตำแหน่งที่สูงมากขึ้น คุณค่า(ความเท่าเทียมทางเพศ)ยิ่งถูกทำลาย และมันคือโอกาสที่หายไป ในการขับเคลื่อนความสามารถที่แสนวิเศษของคน” โดยจากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ในวงการสาธารณสุขโลกคือบุคลากรที่เป็นผู้หญิง ในขณะที่ตำแหน่งระดับสูง ที่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจต่างๆ กลับมีผู้หญิงเพียงแค่ 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
วัคซีนของ Pfizer และ BioNTecH เป็นวัคซีนแรก ที่ได้รับการรับรองความปลอดภัย และอนุญาตให้ฉีดแก่มนุษย์ได้ในสหราชอาณาจักร โดยตั้งแต่เริ่มการคิดค้นวัคซีน จนมาถึงวันที่วัคซีนเข็มแรกที่ถูกฉีดนั้น บริษัทของพวกเขาใช้เวลาในการวิจัย พัฒนา และทดลอง เพียงแค่ 11 เดือน แต่กลับมีประสิทธิผลของวัคซีน ที่สูงกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ตุเรชีกล่าวเสริมว่า เพราะความเท่าเทียมทางเพศ ที่มีผู้หญิงในองค์กรกว่าครึ่งจึง “ทำให้เรื่องเป็นไปไม่ได้เป็นไปได้”
ตุเรชีเปิดเผยข้อมูลว่า BioNTecH มีพนักงานกว่า 54 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้หญิง และกว่า 45 เปอร์เซ็นต์ดำรงตำแหน่งระดับสูงในด้านการบริหารจัดการ และตุเรชีเชื่อว่า ด้วยอัตราส่วนของความเท่าเทียมทางเพศในองค์กรของ BioNTecH ทำให้การผลิตวัคซีน ตั้งแต่ต้นทางยันปลายทางทำได้รวดเร็ว จนแล้วเสร็จภายใน 11 เดือน ตามที่ได้กล่าวไปในข้างต้น อย่างไรก็ดี BioNTecH ตั้งใจจะผลิดวัคซีนออกมาเพิ่มอีก 2 พันล้านโด๊ส ภายในสิ้นปีนี้
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา WHO เพิ่งออกการรณรงค์ ‘ความคิดริเริ่มว่าด้วยสุขภาพและการดูแลแรงงาน ที่เท่าเทียมกันทางเพศ’ เพื่อส่งเสริมให้มีตัวเลขของผู้นำหญิงในองค์กรด้านสาธารณสุข ตลอดจนการผลักดันการจ่ายค่าแรงที่เท่าเทียม และการสร้างสภาพแวดล้อม ในการทำงานที่ปลอดภัยจากการถูกคุกคาม หรือการใช้ความรุนแรงทางเพศ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า คนทุกเพศจะเข้าถึงวัคซีนได้ทั่วทั้งโลก
อ้างอิงจาก
https://www.medicalnewstoday.com/articles/pfizer-vaccine-for-coronavirus#efficacy
#Brief #TheMATTER