เมื่อวานนี้ (20 เมษายน) มีรายงานว่า บุคลากรทางการแพทย์ 6 ราย ในไทย เกิดอาการอัมพฤกษ์ หลังฉีดวัคซีน COVID-19 ของ Sinovac โดยล่าสุด ทางการกำลังสอบสวนเพิ่มเติม คาดว่าผลจะออกในอีก 1-2 วัน ว่าเชื่อมโยงกับวัคซีนหรือไม่
จากรายงานอาการไม่พึงประสงค์ ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 6 คนนั้น มีอาการอัมพฤกษ์ เช่น อาการปวดตามเนื้อตัว ปวดศีรษะ ท้ายทอย อ่อนแรง ตึงและชาตามแขนขา สมองสั่งการช้า ง่วงซึม พูดไม่ชัด ซึ่งคล้ายกันกับอาการที่เกิดขึ้นในผู้ที่ได้รับวัคซีนในต่างประเทศ อาทิ หญิง 6 ราย ที่เกิดลิ่มเลือด หลังได้รับวัคซีนของ Johnson & Johnson ในสหรัฐฯ
ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน COVID-19 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดชลบุรี ได้คาดการณ์เบื้องต้นว่า อาการอัมพฤกษ์ที่เกิดขึ้น น่าจะเชื่อมโยงกับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค หลังจากการได้รับวัคซีน อย่างไรก็ดี มีการระบุว่า อาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากวัคซีนเฉพาะล็อต ที่มีความผิดพลาด แต่ที่น่าตั้งข้อสังเกต คือ ผู้มีอาการทั้ง 6 รายเป็นเพศหญิง ที่ได้รับวัคซีนล็อตเดียวกันทั้งหมด โดยทั้ง 6 ราย ได้รับยาละลายลิ่มเลือด จนอาการกลับมาเป็นปกติแล้ว
CNN ระบุว่า อาการป่วยและเสียชีวิตจากภาวะลิ่มเลือด เกิดขึ้นทั่วไปในมนุษย์อยู่แล้ว ถึงม้จะไม่ป่วยด้วย COVID-19 แค่ COVID-19 เป็นตัวเร่ง ให้ภาวะปกติดังกล่าวนั้น เกิดได้เร็วมากยิ่งขึ้น โดยภาวะลิ่มเลือดหลังฉีดวัคซีน อาจส่งผลให้ลิ่มเลือดไปกั้นหลอดเลือด ที่จะส่งเลือดไปสู่สมอง และส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว หรือปวดตามเนื้อตัว
CNN สัมภาษณ์ นพ.อเล็กซ์ สไปโรโพลอส (Alex Spyropoulos) จากสถาบันไฟน์สไตน์เพื่อการวิจัยทางการแพทย์ ในนิวยอร์ก ความว่า การเกิดลิ่มเลือดหลังรับวัคซีน ถือได้ว่าหายากมาก แต่ถึงจะเกิดลิ่มเลือด ก็สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดได้ ทั้งนี้ การได้รับการฉีดวัคซีน จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าการตระหนกในเรื่องภาวะลิ่มเลือด เพราะสุดท้าย การได้รับวัคซีน คือ การช่วยป้องกันจาก COVID-19 ตั้งแต่แรก
“โอกาสที่คุณจะถูกสายฟ้าผ่าลงมาที่คุณ ยังจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการเกิดลิ่มเลือดหลังรับวัคซีนเสียอีก” นพ.สไปโรโพลอส กล่าวกับ CNN อีกครั้ง “โอกาสจากการมีสิ่งที่เราเรียกมันว่า ภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน หรือ VITT คือ 1 ในล้าน” นพ.สไปโรโพลอสย้ำ
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ และองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป ออกมายืนยันว่า ถึงแม้จะมีอาการลิ่มเลือด หลังการได้รับวัคซีน COVID-19 แต่ประสิทธิผลในการปกป้องจาก COVID-19 หลังรับวัคซีน ถือได้ว่าคุ้มค่ามากกว่า และอาการลิ่มเลือดนั้น “เป็นอาการข้างเคียงที่หาได้ยากมาก” โดยองค์การยาแห่งสหภาพยุโรป แนะนำให้ผลิตภัณฑ์วัคซีน ระบุเพิ่มเติมไว้ที่คำเตือนข้างฉลากว่า ผู้ได้รับวัคซีนอาจมีอาการ “ลิ่มเลือดผิดปกติ พร้อมภาวะเกล็ดเลือดต่ำ”
นพ.สไปโรโพลอส กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในสหรัฐฯ โอกาสที่ผู้คนจะต้องเข้าโรงพยาบาล เพราะป่วยด้วย COVID-19 คือ 1 ใน 100 ซึ่งจะเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่เกิดภาวะลิ่มเลือด 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 6 โดยความเสี่ยงดังกล่าวอาจทำให้ผู้เกิดลิ่มเลือดต้องเข้า ICU 1 ใน 3 ดังนั้น โอกาสการเกิดลิ่มเลือด 1 ในล้าน จากการฉีดวัดซีน จะตัดวงจรเหล่านี้ได้ดีกว่าการปล่อยให้คนป่วย เพราะไม่ฉีดวัคซีน ยิ่งไปกว่านั้น หากเกิดอาการลิ่มเลือดหลังได้รับวัคซีน แพทย์ก็สามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อรักษาอาการดังกล่าวได้ทันท่วงที
อ้างอิงจาก
https://www.matichon.co.th/local/news_2681995
https://www.matichon.co.th/covid19/news_2681729
https://edition.cnn.com/2021/04/20/health/blood-clots-experts-covid-vaccine/index.html
#Brief #TheMATTER