แม้หลายคนอาจมองว่า การทำข่าวแบบ ‘นับปี’ ทำไปก็เท่านั้น ไม่ได้สร้างผลกระทบหรือความเปลี่ยนแปลงใดๆ แต่อย่างน้อยเราก็เห็นว่า มันก็ช่วยทำให้สังคม ‘ไม่ลืม’ เหตุการณ์สำคัญ ที่จนบัดนี้ปริศนาบางอย่างยังไม่คลี่คลาย หรือผู้เสียหายยังไม่ได้รับความยุติธรรม
แม้เหตุสูญเสียระหว่างการชุมนุมคนเสื้อแดง หรือ นปช. ในปี 2553 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. และต่อเนื่องหลังจากนั้นอีกหลายๆ เหตุการณ์ แต่หนึ่งในวันสำคัญ ก็คือ 19 พ.ค. เมื่อรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ จนแกนนำ นปช.ต้องประกาศยุติการชุมนุม ค่ำวันเดียวกัน ยังเกิดโศกนาฎกรรมที่วัดปทุมวนาราม เมื่อมีผู้ชุมนุมและอาสาสมัครพยาบาลถูกยิงเสียชีวิต 6 คน โดยกระสุนปืนของทหารที่ประจำการอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส และที่อ้างว่ายิงต่อสู้กับชายชุดดำ ศาลก็ชี้ว่าไม่เป็นความจริง (คดีไต่สวนการตายของศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555)
เหตุปะทะกันด้วยอาวุธสงครามในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 92-94 คน (ข้อมูลของ คอป. จะบอกว่าอย่างน้อย 92 คน ส่วนของ ศปช.จะบอกว่าอย่างน้อย อย่างน้อย 94 คน) แบ่งเป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ คือทหารและตำรวจ 10 คน และฝ่ายผู้ชุมนุม สื่อมวลชน รวมถึงประชาชนทั่วไปอีก 82-84 คน โดยศาลชี้ว่ามีอย่างน้อย 18 คน ที่เสียชีวิตเพราะกระสุนจากฝั่งทหาร บาดเจ็บอีกหลายพันคน
ญาติผู้เสียชีวิต พยายามยื่นฟ้องให้ศาลอาญา เอาผิดกับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ขณะนั้น ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในข้อหา “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตาม ป.อาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288 แต่ศาลยกคำร้องทั้ง 3 ศาล โดยอ้างว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ ต้องให้ ป.ป.ช. ไต่สวน
เมื่อยื่นคำร้องไปยัง ป.ป.ช. ให้เอาผิดทั้งอภิสิทธิ์, สุเทพ รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ขณะนั้น ในข้อหา “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ตาม ป.อาญา มาตรา 157 ปรากฎว่า ปลายปี 2558 ป.ป.ช.ได้ยกคำร้องไม่รับคดีไว้ไต่สวน โดยอ้างว่าการสลายการชุมนุมที่มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมาดังกล่าว ‘เป็นไปตามหลักสากล’ และหากจะเอาผิดกับบุคคลใดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ให้ถือเป็น ‘ความผิดเฉพาะตัว’
พะเยาว์ อัคฮาด มารดาของกมนเกด อัคฮาด อาสาสมัครพยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมฯ เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมต่อไป ผ่านทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่ทำเรื่องส่งไปยังอัยการศาลทหาร ให้เอาผิดกับทหาร 8 คนที่อยู่บนรางรถไฟฟ้า แต่กลางปี 2562 อัยการศาลทหารกลับมีคำสั่งไม่ฟ้องทหารกลุ่มดังกล่าว โดยอ้างว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
หรือกล่าวโดยสรุป จนถึงขณะนี้ ผ่านมา 11 ปี คดีในฝ่าย ‘ผู้มีอำนาจ’ ไม่ว่าจะรัฐบาลหรือกองทัพ ยังไม่มีใครต้องไป ‘ขึ้นศาล’ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงหรือความถูกต้องเลย ‘แม้แต่คนเดียว’
เช่นเดียวกับเหตุโศกนาฎกรรมอื่นๆ ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทั้ง 6 ตุลาคม 2519 หรือพฤษภาทมิฬ ที่ผู้นำรัฐบาลหรือกองทัพ ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ กับการกระทำของตัวเอง เป็น ‘ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย’ รูปแบบหนึ่ง และถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ผู้มีอำนาจกล้าใช้กำลังกับฝ่ายต่อต้านหรือฝ่ายผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง เพราะยังไม่เคยต้องมีใครรับผิดชอบอะไร
การลอยนวลพ้นผิด (impunity) จึงยังเกิดขึ้นต่อไป ซ้ำแล้ว-ซ้ำเล่า ราวกับจะไม่มีวันจบสิ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.thairath.co.th/content/362085
https://prachatai.com/journal/2020/04/87162
https://thaipublica.org/2015/12/nacc-42/
https://voicetv.co.th/read/Hyx93ecWX
https://www.facebook.com/phayaw.akkahad.1029/posts/2303250433226829
https://thematter.co/social/political-violence-2010/112118
#Brief #TheMATTER