วันนี้ (31 พฤษภาคม 2564) ถือเป็นวันแรกกับการประชุมสภา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยตั้งแต่ช่วงเช้าก็มีทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลจากหลายพรรค ที่อภิปรายไม่เห็นด้วยกับจำนวนงบประมาณที่ฝั่งทางรัฐบาลเสนอ รวมถึงชี้ว่ารัฐบาลล้มเหลวในการจัดการงบประมาณเพื่อแก้ปัญหา COVID-19 และวัคซีน ขณะที่รัฐบาลเองก็ชี้แจงว่า เรื่องงบประมาณนั้นไม่มีปัญหา ส่วนการจัดการวัคซีนนั้นกำลังจัดการอยู่
ด้านศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายประเด็นนี้ โดยชี้ว่าหากครึ่งปีแรก ฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย ช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูประเทศจากความบอบช้ำทางเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญมากว่า 2 ปี
“เมื่อประเทศอยู่ในช่วงรอยต่อของการจบลงของโรคระบาด เราคาดหวังว่ารัฐบาลต้องอัดฉีดงบประมาณเพื่อปั๊มหัวใจ กระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจ ฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้กลับมา แต่งบประมาณของปี 65 แทนที่จะเพิ่มขึ้นกลับลดลง รัฐบาลอาจจะอ้างว่าวางกรอบงบประมาณสมเหตุสมผลแล้ว ในเมื่อจัดเก็บรายได้ได้ลดลง ก็ต้องปรับลดงบประมาณลงเป็นเรื่องปกติ กฎหมาย พ.ร.บ.หนี้สาธารณะก็เขียนล็อกไว้ให้ขาดดุลได้เท่านี้ แล้วก็กู้ชดเชยจนเต็มเพดานแล้วจะเอาอะไรอีก แต่รัฐบาลที่อ้างว่าตัวเองทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เอาหลังพิงกฎหมาย แล้วผลักภาระไปให้ประชาชน”
ทั้งศิริกัญญายังชี้ว่า แทนที่รัฐบาลจะออกเป็นงบกลางปีที่มีรายละเอียดโครงการชัดเจนกลับเลือกทางที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและความรับผิดทั้งปวง รวมถึง ในปี 2565 จากงบประมาณที่ถูกตัดลดลงไป 1.85 แสนล้านบาท แต่เงินที่จะลงไปถึงประชาชนจริงๆ น้อยลงไปยิ่งกว่านั้นเสียอีกเพราะต้องเอาเงินงบประมาณไปใช้หนี้ ที่ไม่ได้มีแค่หนี้สาธารณะ ต้องไปชดเชยภาระผูกพันต่างๆ มากมายที่ได้สร้างไว้ก่อนหน้านี้ เปรียบเหมือนคนที่กำลังป่วยไข้ด้วยโรคในปัจจุบัน แต่รุมเร้าด้วยโรคประจำตัวที่เรื้อรังมานาน แต่ขณะที่มีหนี้มากมายนั้น กลับมีเงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการที่เพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท ทำให้เบ็ดเสร็จรวมแล้วค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินเดือนสวัสดิการข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างรัฐ สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40% ของบประมาณ
“เมื่อต้องเลือกตัดงบรายจ่ายลง แต่รัฐบาลไม่กล้าเผชิญหน้ากับรัฐราชการ ไม่กล้าตัดงบที่ลงตรงๆ ไปยัง กระทรวง กรมต่างๆ เพราะงบพวกนี้ มีเจ้าที่คอยคุ้มครองแทบทั้งสิ้น งบที่รัฐบาลเลือกตัด ก้อนแรกคืองบสวัสดิการของประชาชน หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองถูกตัดไป 2,000 ล้านบาท ประกันสังคมถูกตัดไป 19,000 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการประชารัฐที่รัฐบาลเคยโฆษณาเอาไว้ว่าจะทำให้คนจนหมดประเทศถูกตัดงบไป 20,000 ล้านบาท การเคหะแห่งชาติและกองทุนการออมแห่งชาติถูกตัดงบไปครึ่งหนึ่ง”
ก้อนถัดมาที่รัฐบาลเลือกตัดก็คือเงินสำหรับฟื้นฟูประเทศหลังจากวิกฤติโควิด เลือกที่จะตัดงบประมาณด้านการศึกษาในปีนี้ไป 24,000 ล้านบาท ตัดงบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม 5,000 ล้านบาท ตัดงบกองทุนส่งเสริม SME 40% ตัดงบประมาณแผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 50% ตัดงบแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 20%”
ยังไม่ต้องพูดถึง ว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งงบชดเชยความเสียหายให้ผู้ประกอบการที่ถูกสั่งปิด ที่ปิดมา 3 รอบยังไม่เคยได้เงินชดเชยแม้แต่บาทเดียว อย่ามาอ้างว่าให้ไปใช้งบฟื้นฟูจากเงินกู้ 500,000 ล้าน เพราะไม่มีอะไรการันตีเลยว่าจะทำได้จริง บทเรียนที่ผ่านมาของเงินกู้ 1 ล้านล้าน ที่ตั้งงบฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้าน พออนุมัติจริงกลับทำได้แค่แสนสามหมื่นล้าน หรือเบิกจ่ายจริงไม่ถึงครึ่ง รอบนี้ตั้งงบฟื้นฟูไว้แค่ 170,000 ล้าน จะเอาไปฟื้นฟูอะไรก็ยังไม่รู้ จะใช้จริงแค่ไหนก็ไม่รู้ บอกตรงๆ ว่าถ้าไม่ออกเป็นงบกลางปีแบบมีรายละเอียดยังไงก็ไม่ให้ผ่าน ให้ถอนออกจากสภาไปได้เลย”
นอกจากนี้ ศิริกัญญา ยังชี้ว่า นอกจาก พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ที่มัดตัวเองแล้ว เวลาหน่วยงานราชการจะเขียนโครงการยังต้องเขียนให้ร้อยรัดเข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ,แผนแม่บท 23 แผน แผนแม่บทระดับย่อย แผนปฏิรูปประเทศอีก 11 ด้าน ทำให้ถึงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานจึงไม่ให้สามารถขยับปรับเปลี่ยนงบประมาณได้เลย
“คำว่า ‘งบประมาณ’ ‘ตัวชี้วัด’ ต่างๆ สำหรับรัฐบาล ข้าราชการและเทคโนแครตคงเป็นเพียงคำพูดบนกระดาษ เป็นตารางให้กรอกตัวเลข เป็นข้อมูลบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่สำหรับประชาชน สวัสดิการที่ถูกตัดไป 3.5 หมื่นล้าน อาจจะหมายถึงเงินค่านมลูกที่จะหายไป หมายถึงค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ที่ต้องใช้ทำมาหากินแต่กำลังจะโดนยึด หมายถึงหลักประกันของคนที่ทำงานหนักมาทั้งชีวิตจะมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ”
“งบ SME ที่ถูกตัดไป อาจจะหมายถึงลูกจ้างอีกเป็น 10 ที่ต้องถูกให้ออกจากงาน อาจจะหมายถึงเจ้าของธุรกิจที่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ด้วยความผิดที่พวกเค้าไม่ได้ก่อ งบการศึกษาที่ถูกตัด 20,000 ล้าน อาจหมายถึงเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัย เด็กประถมนับแสนคนที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตามวัยเพราะเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง หมายถึงเด็กที่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคันเพียงเพราะพ่อแม่ตกงาน” ก่อนจะทิ้งท้าย ว่างบประมาณเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องประชาชนนับล้าน จึงไม่สามารถรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณนี้ได้ แต่เรียกร้องถอนร่างนี้ ให้นายกฯ ลาออก และให้รัฐบาลใหม่ออก พ.ร.บ.กู้เงิน และจัดทำงบกลางปีเพื่อชดเชยสวัสดิการ การศึกษา และงบประมาณฟื้นฟูประเทศ
#Quote #TheMATTER