โลกอาจจะไม่เรียกชื่อ COVID-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์ ตามชื่อของประเทศที่พบมันอีกแล้ว เพราะล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกประกาศว่า พวกเขาได้เปลี่ยนระบบการเรียกชื่อ COVID-19 สายพันธุ์ต่างๆ แล้ว โดยจะใช้ตัวอักษรกรีกแทน
การเปลี่ยนระบบการเรียกชื่อสายพันธุ์ COVID-19 กลายพันธุ์ต่างๆ ในครั้งนี้ จะมีการนำตัวอักษรภาษากรีกเข้ามาแทน จากเดิมที่ชื่อของพวกมัน ถูกเรียกตามชื่อประเทศที่ถูกค้นพบ โดยองค์การอนามัยโลกให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการลดการตีตราประเทศนั้นๆ
ทั้งนี้ สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่น่ากังวลต่าง ๆ จะถูกเรียกชื่อใหม่ ได้แก่
- สายพันธุ์สหราชอาณาจักร B.1.1.7 เรียกว่า อัลฟ่า (A)
- สายพันธุ์แอฟริกาใต้ B.1.351 เรียกว่า เบต้า (B)
- สายพันธุ์บราซิล P.1 เรียกว่า แกมมา (Γ)
- สายพันธุ์อินเดีย B.1.617.2 เรียกว่า เดลต้า (Δ)
นอกจากนี้ สายพันธุ์ที่ถูกจับตามองอื่นๆ ยังมีการเปลี่ยนระบบการเรียกชื่อด้วยเช่นกัน ได้แก่
- สายพันธุ์สหรัฐฯ B.1.427/429 เรียกว่า เอปไซลอน (Ε)
- สายพันธุ์บราซิล P.2 เรียกว่า ซีตา (Z)
- สายพันธุ์ที่พบในอีกหลายประเทศ B.1.525 เรียกว่า อีต้า (H)
- สายพันธุ์ฟิลิปปินส์ P.3 เรียกว่า ทีต้า (Θ)
- สายพันธุ์สหรัฐฯ B.1.526 เรียกว่า ไอโอตา (I)
- สายพันธุ์อินเดีย B.1.617.1 เรียกว่า กัปปะ (K)
“ไม่ควรมีประเทศใดถูกตีตรา จากการตรวจพบและรายงานการพบสายพันธุ์กลายพันธุ์” มาเรีย ฟาน แกร์โคฟ (Maria Van Kerkhove) หัวหน้าฝ่ายเทคนิค หน่วยปฏิบัติการ COVID-19 ขององค์การอนามัยโลกกล่าว
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังระบุอีกว่า การเปลี่ยนระบบการเรียกชื่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ จากชื่อประเทศเป็นตัวอักษรกรีก จะยังช่วยให้การอธิบายด้วยศัพท์ธรรมดา ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจง่ายขึ้น โดยไม่ต้องคอยอธิบายรหัสทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ
หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า เชื้อไวรัสต่างมีการพัฒนาการของตัวเองในแต่ละสถานที่เอง โดยไม่ได้ขึ้นตรงต่อประเทศ การเรียกชื่อด้วยชื่อประเทศแรกที่ตรวจพบมัน จึงจะเป็นการตีตราและเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ดี ชื่อทางวิทยาศาสตร์ จะยังถูกเรียกอยู่เช่นเคย ในการทำการทดลองและวิจัย
มีข้อวิจารณ์การเปลี่ยนระบบการเรียกชื่อใหม่ในครั้งนี้ว่า องค์การอนามัยโลกได้ตัดสินใจช้าไป เพราะมันจะก่อให้เกิดความสับสน จากเดิมที่ควรจะเรียกมันด้วยอักษรกรีกตั้งแต่แรก ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกยังขอความร่วมมือให้รัฐบาล และเอกชนต่างๆ นำระบบการเรียกชื่อสายพันธุ์กลายพันธุ์ ตามตัวอักษรกรีกไปใช้กันอย่างทั่วถึง เพื่อความเข้าใจร่วมกัน
อ้างอิงจาก
https://www.who.int/en/activities/tracking-SARS-CoV-2-variants/
https://edition.cnn.com/2021/05/31/health/coronavirus-variants-who-labels-bn/index.html
https://twitter.com/mvankerkhove/status/1399388129300205569?s=21
#Brief #TheMATTER