หากพูดถึงเทคโนโลยี mRNA หลายคนอาจจะนึกถึงวัคซีนไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา ซึ่งเป็นวัคซีน COVID-19 ที่ได้รับความเชื่อมั่นมากที่สุดในขณะนี้ แต่รู้หรือไม่ว่า mRNA ไม่ได้มีดีแค่การป้องกัน COVID-19 เท่านั้น แต่มันยังมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคต่างๆ อาทิ มะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับพันธุกรรมได้ด้วย
Messenger RNA หรือ mRNA อาจเป็นของใหม่สำหรับหลายๆ คน แต่ความจริงแล้ว mRNA เป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่นักวิจัยซุ่มพัฒนามาหลายทศวรรษ ซึ่งความพยายามเหล่านั้น กำลังได้รับผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า หลังมันสามารถแสดงผลงานการป้องกัน COVID-19 ได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งผลจากการทดลองทางคลินิกในเฟส 3 ของวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นาระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่า 90%
และอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า mRNA ไม่ได้มีดีแค่การป้องกัน COVID-19 เท่านั้น แต่นักวิจัยยังระบุว่ามันมีความสามารถในการต่อต้านเชื้อ HIV, ไวรัส Respiratory Syncytial Virus (RSV) และไวรัส Human Metapneumovirus (hMPV) ที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจ นอกจากนี้ เทคโนโลยี mRNA ยังถูกใช้เพื่อทดสอบการรักษาโรคมะเร็ง เนื้องอกในสมอง โรคภูมิต้านตนเอง รวมถึงเป็นแนวทางในการทำยีนบำบัด (Gene Therapy) เพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับพันธุกรรมที่หายยาก เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (SCD) ด้วย
สำนักข่าว CNN ได้ไปพูดคุยกับกลุ่มนักวิจัยที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยี mRNA อย่างแคททาลิน คาริโก (Katalin Kariko) นักวิจัย และดรูว์ ไวซ์แมน (Drew Weissman ) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย โดยทั้งคู่เล่าว่า พวกเขากำลังศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนที่พัฒนาด้วย mRNA ในการต่อสู้กับเชื้อ HIV ซึ่งเป็นที่มาของโรคเอดส์ นอกจากนี้ยังตั้งเป้าว่าจะนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปรักษาโรคอื่นๆ เช่น โรคอีโบลา โรคไข้ซิกา โรคพิษสุนัขบ้า โรคมาลาเรีย วัณโรค และไวรัสหายากอย่าง ไวรัสนิปาห์ (Nipah virus)
เจสัน แมคแอลเลน (Jason McLellan) นักชีววิทยาเชิงโครงสร้าง ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัทโมเดอร์นา กำลังเริ่มทดลองวัคซีนต้านโรคมะเร็งจากเทคโนโลยี mRNA โดยอยู่ในระหว่างทดลองระยะที่ 1 พร้อมอธิบายว่า เซลล์เนื้องอกปัจจุบันมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน จากการวิเคราะห์ของอัลกอริธึมคอมพิวเตอร์ระบุว่า เซลล์มะเร็งที่พบบ่อยๆ มีประมาณ 20 ชนิด บริษัทโมเดอร์นาจึงพัฒนาวัคซีนที่สามารถถอดรหัสการกลายพันธุ์ และบรรจุมันลงไปในโมเลกุล mRNA ตัวเดียว ซึ่งจะทำให้ร่างกายของผู้ฉีดวัคซีนเพิ่มการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันมะเร็งมากขึ้นได้
ในส่วนของโรคที่เกี่ยวกับพันธุกรรม ซึ่งต้องใช้ยีนบำบัดในการรักษา ไวซ์แมนกล่าวว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยได้พยายามคิดค้นวัคซีนที่จะมาช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ จนกระทั่งมาเจอเทคโนโลยี mRNA ที่ส่งสัญญาณที่ดีในการรักษาโรคทางพันธุกรรม โดยเฉพาะกับโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ที่รูปร่างของเซลล์เม็ดเลือดแดงจะเป็นรูปเคียว ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเสียคุณสมบัติในการยืดหยุ่น เกิดการอุดตันในเส้นเลือด และทำให้เกิดภาวะของโรคแทรกซ้อนขึ้น
ไวซ์แมน อธิบายว่า mRNA จะช่วยเปลี่ยนการสั่งการที่ไขกระดูก ซึ่งเป็นจุดที่มีการสร้างเม็ดเลือดแดง ให้สร้างเม็ดเลือดแดงที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเขาระบุว่า ขณะนี้ได้เริ่มทำการทดลองแล้ว และหากมันสำเร็จ โลกของเราจะสามารถรักษาอาการป่วยนี้ได้ในราคาไม่ถึงครึ่งล้าน และทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ฉีดวัคซีนเข้าทางหลอดเลือดดำ
แน่นอนว่าการพัฒนาวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งจำเป็นต้องใช้เวลานาน และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางอันยาวไกล แต่ถึงเช่นนั้น การได้พบกับอุโมงค์ที่อาจสามารถพาเราเดินทางไปถึงจุดที่เอาชนะโรคที่คร่าชีวิตคนไปมากมาย ย่อมเป็นข่าวที่ดีอย่างยิ่ง ท้ายที่สุด mRNA อาจเป็นคำตอบของคำถามที่นักวิจัยตามหา แต่หากไม่ใช่ เชื่อว่าชุดความรู้ที่ถูกทิ้งไว้จะไม่สูญเปล่ากับคนรุ่นหลังอย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/…/mrna-vaccines…/index.html…
https://www.modernatx.com/…/mrna-personalized-cancer…
https://science.sciencemag.org/content/371/6525/145