ตามที่รัฐบาลเตรียมนำวัคซีน COVID-19 ของ Pfizer เข้ามาฉีดให้ประชาชน 5 ล้านโดส ซึ่งถึงตอนนี้ยังเป็นวัคซีนไม่กี่ยี่ห้อที่ใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีได้ (ต่างกับ Sinovac และ AstraZeneca ยังมีผลทดลองกับคนอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น)
.
นพ.กันย์ พงษ์สามารถ จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (โรงพยาบาลเด็ก) กล่าวกับ The MATTER ว่า แม้อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จะเคยบอกว่า วัคซีนของ Pfizer จะสามารถใช้กับเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้ แต่อยากให้ภาครัฐบาลใช้ความชัดเจนว่า วัคซีน Pfizer จะสงวนไว้ใช้สำหรับเด็กได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีเด็กจำนวนมากติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งเกือบทั้งหมดติดมาจากคนในครอบครัว ที่หากไม่ฉีดให้เด็ก ก็ต้องฉีดให้คนในครอบครัวทั้งหมด
ทั้งนี้ จำนวนเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ถือเป็น 17% ของประชากรทั้งหมด หรือราว 11.4 ล้านคน จากทั้งหมด 67 ล้านคน
“ถ้าจะให้เด็กกลับไปเรียนในโรงเรียนได้ ในปีนี้ ก็จำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนให้กับทั้งเด็กและครู จึงอยากสอบถามไปยังภาครัฐ ถึงความชัดเจนเรื่องวัคซีนที่จะให้กับเด็กๆ” แพทย์จากโรงพยาบาลเด็กกล่าว
นพ.กันย์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคภูมิแพ้ หรืออิมมูโนวิทยา ยังกล่าวถึง ‘ผู้ป่วยโรคหายาก’ (rare disease) บางส่วน เช่น คนที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง อย่างโรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus) ซึ่งคนไทยบางส่วนเรียกกันว่า ‘โรคพุ่มพวง’ ซึ่งจำเป็นต้องกินยากดภูมิคุ้มกันตัวเอง และไม่ชัดเจนว่า เมื่อได้รับวัคซีน COVID-19 แล้วภูมิคุ้มกันจะขึ้นหรือไม่ เพราะต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัย เช่น ประเภทยากดภูมิคุ้มกันที่กินอยู่และช่วงเวลาในการกินยาด้วย ที่แม้คนไข้กลุ่มนี้อาจจะมีจำนวนไม่มากนัก และไม่ถือว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับคนไข้ 7 โรคเรื้อรัง แต่ก็อยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย โดยผู้เกี่ยวข้องอาจทำเป็นคู่มือให้คำแนะนำกับบุคลากรการแพทย์ที่ต้องฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ หรือไม่เช่นนั้นก็อาจต้องฉีดวัคซีนให้กับผู้ดูแล (caregiver)
“ผมเข้าใจดีว่า ตอนนี้รัฐบาลกำลังยุ่งในการบริหารจัดการวัคซีน COVID-19 ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน แต่ก็อยากส่งเสียงออกมาว่า อย่าลืมเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือผู้ป่วยโรคหายากที่ต้องการดูแลเป็นพิเศษด้วย” นพ.กันย์กล่าว
#Brief #TheMATTER