แม้ COVID-19 จะทำให้อุตสาหกรรมหลายประเภทต้องชะงักลง แต่ก็ไม่เพียงพอจะทำให้สถานการณ์โลกร้อนดีขึ้น ล่าสุดมีรายงานว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมในชั้นบรรยากาศโลกได้สร้างสถิติใหม่ มีปริมาณสะสมสูงสุดในรอบ 4.5 ล้านปี นับตั้งแต่ช่วง Pliocene Climatic Optimum
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักวิทยาศาตร์จากสถาบัน Scripps Institution of Oceanography และ National Oceanic and Atmospheric Administration ใช้เครื่องมือวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่บริเวณยอดภูเขาไฟ Mauna Loa ในฮาวาย เพื่อตรวจสอบค่าสะสมของก๊าซ ก่อนจะพบว่า ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอากาศมีค่าความเข้มข้นถึง 419 ppm. ทำลายสถิติเดิม 417 ppm. ที่วัดไว้เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2020
ตัวเลขดังกล่าวสร้างความกังวลให้หลายๆ คน นักวิจัยคาดว่า นี่เป็นการพบระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่สูงที่สุดในรอบหลายล้านปี ซึ่งนั่นอาจทำให้โลกเดินทางเข้าใกล้จุดวิกฤตเร็วขึ้น
แม้ว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โรคระบาด COVID-19 จะทำให้อุตสาหกรรมหลายๆ ประเทศต้องชะงักลง ตามรายงานจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศระบุว่า ในปี ค.ศ.2020 โลกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง 5.8% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2019 แต่ถึงเช่นนั้น ระดับการปล่อยก๊าซที่ลดลงแทบไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้กับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศ
เมื่อปีที่แล้ว มนุษยชาติยังคงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 31 พันล้านตัน จากแหล่งพลังงานอื่นๆ เช่น รถยนต์ โรงงานถ่านหิน ซึ่งครึ่งหนึ่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกจากกิจกรรมของมนุษย์จะถูกดูดซับโดยต้นไม้ และมหาสมุทร แต่ส่วนที่เหลือจะถูกเก็บสะสมไว้ที่ชั้นบรรยากาศ และทำให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจก
ราล์ฟ คีลิง (Ralph Keeling) นักธรณีวิทยาภาคเคมี กล่าวว่า ตราบใดที่ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเรื่อยๆ มันก็จะยังเกิดการสะสมที่ชั้นบรรยากาศ การจะทำให้ปริมาณการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงจนเห็นได้ชัด มนุษย์ต้องลดการปล่อยก๊าซลง 20-30% จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และทำต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะเริ่มสังเกตุเห็นการเปลี่ยนแปลง
นักวิทยาศาสตร์กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการเดียวที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนั้นได้ คือประเทศต่างๆ ต้องทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ด้วยการเปลี่ยนจากใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นเทคโนโลยีสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานลม หรือพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงลดการเผาไหม้ในโรงงาน แต่จนถึงตอนนี้ โลกไม่ได้อยู่บนเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น
เหล่านักวิทยาศาสตร์คาดว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากหลายๆ ประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19 อีกทั้งการเผาไหม้ถ่านหินทั่วโลกกำลังเข้าใกล้ระดับที่เรียกได้ว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/…/climate-change-emissions.html
https://www.axios.com/earth-carbon-dioxide-levels-human…
https://www.iflscience.com/…/carbon-dioxide-in…/…