ยังต้องจับตากันต่อไป สำหรับผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca แต่ก็คงเบาใจกันได้บ้างแล้ว หลังโครงการฉีดวัคซีน COVID-19 ของสกอตแลนด์ ได้ศึกษาอาการข้างเคียงหลังใช้วัคซีนดังกล่าว พบว่า วัคซีน AstraZeneca มีความเชื่อมโยงเพียงเล็กน้อยกับการเกิดลิ่มเลือด และภาวะเลือดออกผิดปกติ
ทีมแพทย์ได้ตรวจสอบเวชระเบียนของประชาชน 5.4 ล้านคนในสกอตแลนด์ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเลือด เช่น ลิ่มเลือด เลือดออกผิดปกติ รวมถึงภาวะ ITP (Immune Thrombocytopenic Purpura) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง มีปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ และมักมีเลือดออกตามเหงือก และเลือดออกภายในร่างกาย
จากนั้นสาธารณสุขสกอตแลนด์ (Public Health Scotland) ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มแรก จำนวน 1.7 ล้านคน พบว่าการฉีดวัคซีนเพิ่มโอกาสเกิด ITP เพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน
บทความในวารสารเนเจอร์เมดิซีน (Nature Medicine) ระบุว่า ผู้ฉีดวัคซีน AstraZeneca จะพบว่ามีอาการ ITP ประมาณ 11 รายต่อ 1 ล้านราย ซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน หรือโรคไตเรื้อรัง และมักเริ่มมีอาการตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์หลังฉีด โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของ ITP หลังฉีดวัคซีน AstraZeneca นั้นคล้ายคลึงกับผลข้างเคียงที่พบในวัคซีนอื่นๆ เช่น วัคซีนหัด (MMR) สำหรับไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนตับอักเสบบี
เอซิส ชีคห์ (Aziz Sheikh) หัวหน้านักวิจัยและอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) กล่าวว่า งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าอัตราการเกิด ITP ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้ฉีดวัคซีนนั้นน้อยมาก และไม่เชื่อมโยงกับการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในสมอง ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจในการฉีดวัคซีนให้ประชากร เพราะผลข้างเคียงอยู่ในระดับที่ต่ำ อีกทั้งยังมีวิธีรักษาให้หายเป็นปกติ
ขณะที่ สตีเฟน อีเวนส์ (Stephen Evans) ศาสตราจารย์ด้านเภสัชระบาดวิทยา ประจำวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน (London School of Hygiene & Tropical Medicine) อธิบายว่า อัตราการเกิดภาวะ ITP ในผู้ฉีดวัคซีน AstraZeneca นั้นต่ำกว่าอัตราการเกิดในผู้ที่ป่วยเป็น COVID-19 มาก
จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วย COVID-19 ประมาณ 340 คนใน 100,000 คนจะมีอาการ ITP ดังนั้น แม้ว่าวัคซีน AstraZeneca มีเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะ ITP แต่ประโยชน์ของมันยังคุ้มค่ามากกว่า นอกจากนี้ ITP ยังไม่ใช่อาการที่ร้ายแรง และสามารถรักษาได้ ซึ่งบางกรณีผู้ป่วยสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรักษาด้วยซ้ำ
สรุปคือ ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันว่าวัคซีน AstraZeneca ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือด รวมถึงอาการเลือดออกในร่างกายหลังฉีด และนอกจากการศึกษาวัคซีน AstraZeneca แล้วยังมีการศึกษาการเกิดผลข้างเคียงดังกล่าวกับประชาชน 800,000 คนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ซึ่งพบว่าไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ถึงอาการ ITP ลิ่มเลือด รวมถึงเลือดออกในร่างกายเช่นกัน
อ้างอิงจาก
https://www.theguardian.com/…/astrazeneca-vaccine…
https://www.channelnewsasia.com/…/scottish-study-blood…
https://www.irishtimes.com/…/astrazeneca-covid-19…