รัฐไทยมีประสิทธิมากพอ ต่อการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือไม่ คงเป็นคำถามที่ใครหลายคนนึก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี การสถาปนาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น เพื่อหาคำตอบดังกล่าว
งานเสวนาเปิดมาด้วยเงื่อนไขของการมีอยู่และไม่มีอยู่ของข้อเท็จจริง ซึ่ง ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ชี้ให้เราเห็นว่า รัฐบาลจัดการสถานการณ์ไปตามชุดข้อมูลที่มี จากเดิมที่รัฐไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับโรคอุบัติใหม่ และเลือกที่จะใช้นโยบายปิดสถานที่ ล็อกดาวน์ เพื่อกดให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ ถึงแม้ในระยะแรกจะทำได้จริง แต่ก็ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง
ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ศ.วุฒิสาร ชวนย้อนพิจารณาว่า เงื่อนไขของการแพร่ระบาดในระยะแรก ต่างจากระยะที่ 2 และ 3 เพราะในระยะที่ 2 รัฐบาลพบว่า การปิดสถานที่เพื่อกดตัวเลขเป็นศูนย์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดในระยะที่ 2 มาพร้อมกับการที่รัฐไม่สามารถติดตามผู้ติดเชื้อได้เท่าครั้งแรก เพราะเกิดจากบ่อน รัฐจึงปรับนโยบายเป็นการชั่งความสมดุล ระหว่างการสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ด้วยการแบ่งเขตที่ปิด แต่เมื่อพบกับการระบาดระยะที่ 3 รัฐไทยซึ่งตอบรับกับปัญหาได้ไม่เร็วพอ จึงพบกับวิกฤต นโยบายเหล่านี้ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย
ในขณะที่ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลต้องแยกระหว่างการรวมศูนย์อำนาจ กับการวางระบบสั่งการที่มีเอกภาพ สองสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน จริงอยู่ว่า ในสถานการณ์ปัจจุัน ต้องมีการสั่งการมาจากจุดเดียวกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจำเป็นจะต้องรวบอำนาจไว้ที่ตัวเอง โดยรัฐสามารถกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ ตามบริบทของพื้นที่ได้มากกว่าที่ทำอยู่
แต่สิ่งที่สำคัญ ในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเชิงนโยบายนั้น ผศ.ดร.ทวิดา เสนอว่า รัฐไทยควรทำ Big Data ให้สำเร็จอย่างจริงจัง เพื่อให้เป็นข้อมูลชุดเดียว ในการสื่อสารทำความเข้าใจกับหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และประชาชน การสื่อสารของรัฐไทยในทุกวันนี้มีปัญหา เพราะนำเสนอแต่ตัวเลขในอดีต เช่น ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ตัวเลขการฉีดวัคซีนของเมื่อวาน แต่ไม่นำเสนอตัวเลขในอนาคต อาทิ การจัดสรรวัคซีนอย่างไรให้เป็นระบบ ข้อมูลชุดหลังต่างหาก ที่ประชาชนต้องการจะฟังมากกว่า
ในทำนองเดียวกัน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุถึงการจัดการวัคซีนของรัฐบาลว่า ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเป็นรัฐบาลเดียว แต่กลับทำงานกันเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรคในรัฐบาล เพื่อหาเสียงกันผ่านวัคซีน ทางออกของปัญหา คือ รัฐไทยจึงควรเชื่อมโยงข้อมูลกัน และจัดวางกติกาอย่างเป็นระบบ เพื่อประโยชน์ของประชาชน
นอกจากนี้ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่า ลำพังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ใช่เรื่องของไวรัสอย่างเดียว แต่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับนโยบาย และการตัดสินใจในทางการเมือง ในขณะที่รัฐไทยเอง กลับขาดภาวะผู้นำ ความโปร่งใส และการขับเคลื่อนสาธารณะไปในทางเดียวกัน
สำหรับการวางความสัมพันธ์ ที่รัฐมองต่อประชาชน นพ.โกมาตรมองว่า รัฐควรมีนโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ประชาชน โดยรัฐไทยไม่ควรเปลี่ยนจากนโยบายเพื่อพลเมือง ให้กลายเป็นนโยบายเพื่อผู้ได้รับการสงเคราะห์ รัฐต้องออกแบบนโยบายที่เชิญชวนให้หน่วยงาน องค์กร และผู้คน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่เท่าเทียมกัน โดยรัฐต้องสร้างการบริหารงานที่มีความรับผิดรับชอบ ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะช่วยให้รัฐไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/ThaiPBS/videos/230911675232209
#Brief #TheMATTER