วันที่ 15 มิ.ย.2564 ที่รัฐสภา พรรคก้าวไกล (กก.) นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค แถลงจุดยืนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อาจมีการพิจารณาในเร็วๆ นี้
1.) ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แล้วจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ประตูบานแรกที่จะนำไปสู่วิถีทางดังกล่าว คือการจัดทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชน ซึ่งขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น กก.ขอคัคด้านหากประธานรัฐสภาจะเลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่ค้างอยู่ แล้วนำวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นมาพิจารณาก่อน ตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทั้งๆ ที่ ไม่มีเหตุความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด ประธานรัฐสภาจึงต้องกำหนดวาระตามปกติ ให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติแล้วเสร็จก่อนเข้าสู่วาระอื่นๆ
2.) กก.เห็นว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของ พปชร.ในหลายมาตรา มีความพยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. และยุติกลไกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แล้วดำเนินการต่ออายุให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ ต่อไป ผ่านการแก้ไขเรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ตนเองคิดว่าจะได้เปรียบทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุน ผ่านการเปิดช่องให้นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลสามารถเข้าไปเบียดบังงบประมาณและแทรกแซงข้าราชการได้ง่ายขึ้น
3.) การพยายามเสนอรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ตามแนวทางของ พปชร. มีแต่จะทำให้เกิดความสับสน หรือแย่กว่านั้นคือเข้าไปช่วยตกแต่งให้รัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ดูดีขึ้น
“ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในยุคปัจจุบัน ควรพุ่งเป้าไปที่การปลดล็อกการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร”
กก.จึงเสนอให้ปิดสวิตซ์ ส.ว. แก้ไขมาตรา 272 เพื่อยกเลิกอำนาจการเลือกตั้งนายกฯ ของ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกโดย คสช.เอง ทาง ส.ส.กก.จะลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญกับ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นและยื่นต่อประธานรัฐสภา ในวันพรุ่งนี้ (16 มิ.ย.2564)
4.) ที่ประชุม ส.ส.กก.มีมติไม่ร่วมลงชื่อกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง ส.ส.ร. เพราะเราไม่เห็นด้วยกับการจำกัดอำนาจของ ส.ส.ร. ห้ามแก้ไขหมวด 1 และ 2 กก.ยืนยันมาตลอดว่า การกำหนดห้ามดังกล่าวเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองที่ผิด ที่จะส่งผลเสียต่อประชาธิปไตยในระยะยาว และเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน
“เราเชื่อมั่นเสมอว่า ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน มีความชอบธรรมที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ทุกหมวด และควรจะเป็นเวทีที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายเคารพอำนาจของประชาชน เพื่อนำไปสู่ฉันทามติใหม่ของสังคมไทยร่วมกัน”
5.) เรื่องระบบการเลือกตั้ง ส.ส. กก.เห็นว่า ถ้าจะแก้ไข ต้องมีเป้าหมายในการสร้าง ‘ระบบเลือกตั้งที่ดี’ ไม่ใข่มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาระบบเลือกตั้งที่พรรคขนาดใหญ่ได้ประโยชน์มากที่สุด ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ดีคืออะไร คือต้องทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย สะท้อนเจตนารมณ์ประชาชนได้ดีที่สุด ต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของระบบพรรคการเมืองและสร้างประสิทธิภาพการทำงานในระบบรัฐสภา
ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ใช่ระบบที่ดี ส่วนระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ยังมีข้อด้อยที่ต้องปรับปรุง
ซึ่ง กก.เห็นว่า ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ดี ควรจะเป็นระบบ ‘จัดสรรปันส่วนผสม’ ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กล่าวคือ เลือก ส.ส.เขต 1 ใบ และเลือกพรรคอีก 1 ใบ เพื่อนำมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค เพื่อให้เสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ และได้สัดส่วน ส.ส.ของแต่ละพรรค ตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง
“พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า ทางออกจากวิกฤตรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน ไม่ใช่การเข้าร่วมตามเกมของพรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร และต่ออายุให้กับระบอบประยุทธ์ แต่ต้องร่วมกันผลักดันให้มีการลงประชามติ เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ควบคู่ไปกับการทำลายหัวใจในการสืบทอดอำนาจ ด้วยการปิดสวิตซ์ ส.ว.แต่งตั้ง ก่อนการแก้ไขระบบเลือกตั้ง ส.ส. หรือประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ” พิธากล่าว
#Brief #TheMATTER