วิกฤตนี้ทำให้ทุกๆ คนเดือดร้อน รัฐมีมาตรการเยียวยาอยู่นะ อ้าววว ไปลงทะเบียนกัน! เฟสหนึ่ง ลงทะเบียน เฟสสอง ลงทะเบียน เฟสสาม ก็ลงทะเบียน
นับแต่วิกฤต COVID-19 เกิดขึ้น รัฐบาลไทยก็ออกสารพัดมาตรการเยียวยา ทั้งลดค่าใช้จ่าย เพิ่มเงินในกระเป๋า กระตุ้นเศรษฐกิจ ฯลฯ เชื่อไหมว่า แค่ปีครึ่งจะต้องมีการลงทะเบียนกันนับสิบครั้งแล้ว ทั้งมาตรการ “–ชนะ” “–ละครึ่ง” “–รักกัน” หรือชื่ออื่นใด ที่ใช้คำวนๆ กันอยู่ประมาณนี้
การ ‘ลงทะเบียน’ เคยถูกสะท้อนไปในที่ประชุม ครม.ด้วยว่า เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หลายๆ คนพลาดมาตรการเยียวยาจากภาครัฐไป
ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติ หน่วยงานภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เคยนำเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจากสถานการณ์ COVID-19 ในปี 2564 ซึ่งจัดทำระหว่าง 8-15 มี.ค.2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 9,000 ตัวอย่าง
หลังประชุม ครม.วันดังกล่าวเสร็จสิ้น ทีมโฆษกก็หยิบโพลนี้มาเผยแพร่ต่อ แต่จะเน้นเรื่องความพึงพอใจต่อมาตรการเยียวยาจากรัฐบาล เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการม.33 เรารักกัน ซะมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูโพลดังกล่าวในรายละเอียดจะพบว่า มีการสอบถามว่าเหตุผลที่ประชาชนจำนวนไม่น้อย ‘เข้าไม่ถึง’ มาตรการต่างๆ คืออะไร ซึ่งนอกจากเรื่องคุณสมบัติไม่ครบถ้วนแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลหลักก็คือ ลงทะเบียนไม่ทัน โดยข้อเสนอแนะต่อทุกโครงการอันดับหนึ่งเหมือนกันเลยก็คือ “ให้ทุกคนได้รับสิทธิ์เยียวยา” ตามมาด้วย “ให้เพิ่มวงเงิน-ให้เป็นเงินสด”
ผลโพลของสำนักงานสถิติแห่งชาติดังกล่าว นำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อที่ประชุม ครม. จำนวน 3 ข้อ
1.) ควรเพิ่มมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ
2.) ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิ์ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 มีผลกระทบกับประชาชนทุกระดับและทุกคน โดยไม่ควรใช้วิธีการที่ซับซ้อน เช่น การให้เงินสดโดยไม่ต้องลงทะเบียน
3.) ควรส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ในราคาย่อมเยาว์
ก่อนหน้านี้ คนในฝ่ายรัฐบาลก็เคยออกมาชี้แจงว่ามาตรการเยียวยาให้ทุกคนไม่ได้ เพราะงบประมาณมีจำกัด แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดมาว่า เหตุใดประชาชนจะต้องลงทะเบียนบ่อยๆ เพื่อรับเงินเยียวยาจากวิกฤตที่ทุกๆ คนก็ได้รับผลกระทบ ไม่รวมถึงการกำหนดให้ลงทะเบียนโดยมีข้อจำกัดเรื่องจำนวนสิทธิ์ที่ทำให้หลายๆ คนไม่ได้รับการเยียวยา ตามที่ปรากฎเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงตามที่ผลโพลดังกล่าวของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุ
.
.
ดูผลโพลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและข้อเสนอแนะดังกล่าวได้ที่: https://resolution.soc.go.th/PDF_UPLOAD/2564/P_403731_4.pdf
#Brief #TheMATTER