กลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นมาข้ามคืน สำหรับประเด็นของ ดิว อริสรา ทองบริสุทธิ์ นักแสดงหญิง และแฟนหนุ่มเซบาสเตียน ลี ที่จัดงานเซอร์ไพรส์วันเกิดโดยการจุดพลุที่รีสอร์ทริมแม่น้ำเจ้าพระยาใน อ.บางปะอิน จ.อยุธยา ในช่วงเวลา 22.00 น. เป็นเวลาประมาณ 3 นาที
หลังจากนั้น มีผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวออกมาร้องเรียนว่าได้รับความเดือดร้อนจากการเซอร์ไพรส์นี้ รวมถึงระบุว่าทางโรงแรม และองค์กรส่วนท้องถิ่นไม่มีการแจ้งให้ผู้อยู่อาศัยทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด จึงทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ผ่านทางโลกออนไลน์ และมีการติดแฮชแท็ก #ดิวอริสรา จนขึ้นเทรนด์ในช่วงคืนที่ผ่านมา
หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ดิว อริสรา และเซบาสเตียน ได้ออกมาชี้แจงว่า ได้ขออนุญาตทางอำเภอบางประอินแล้ว พร้อมแนบเอกสารประกอบว่าทางอำเภออนุญาตให้จุดพลุจำนวน 200 นัด ในเวลา 22.00 น. ซึ่งทางดิว อริสราและแฟนหนุ่มก็ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ทำให้หลายกลุ่มพุ่งเป้าไปที่การอนุญาตของ ‘อำเภอ’ และการปฏิบัติงานของทาง ‘โรงแรม’ แทน ว่าทำไมจึงปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น รวมถึงไม่มีการแจ้งผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้า
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมองว่าการจุดพลุเพื่อเฉลิมฉลองส่วนตัวเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำตั้งแต่แรก เนื่องจากการจุดพลุ ไม่เพียงแต่รบกวนชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่มีสภาวะทางจิตใจหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) และสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเปิดเผยว่า สุนัขของเขาตกใจเสียงพลุจนเตลิดออกไปนอกบ้านกลางดึก และเขาต้องใช้เวลาทั้งคืนเพื่อตามหา ด้วยความเป็นห่วง
นอกจากนี้ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางส่วนยังแสดงความเห็นว่า ที่ผ่านมามีบทเรียนให้เห็นหลายต่อหลายครั้งว่าการจุดพลุใกล้พื้นที่ชุมชนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ หรือชิ้นส่วนของพลุอาจตกมา และเป็นอันตรายต่อผู้อื่น พร้อมทั้งเรียกร้องให้หยุดการเฉลิมฉลองด้วยวิธีดังกล่าวโดยไม่จำเป็น
และอีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนสนใจในข่าวนี้คือการขออนุญาตจุดพลุในทางกฎหมาย ว่ามีข้อจำกัด และขอบเขตเช่นไร ซึ่งส่วนของกฎหมายที่เข้ากับเหตุการณ์นี้คือ ‘กฎหมายบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน ลอยสู่อากาศ’ ซึ่งมีรายละเอียดว่า “บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน จัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่งตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน พ.ศ. 2490”
พร้อมทั้งระบุว่าหากเล่นพลุ หรือดอกไม้เพลิงแล้วสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น จะมีโทษตาม ม.220 จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 14,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ยังระบุว่า หากใครทำให้เกิดเสียงโดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
สำหรับการขอนุญาตก่อนจุดพลุ ตามกฎหมายระบุว่า ต้องยื่นขอใบอนุญาตกับนายอำเภอแห่งท้องที่ล่วงหน้าก่อนจุดพลุ เป็นเวลา 15 วัน เพื่อให้ทางอำเภอตรวจสอบความเหมาะสมของสถานที่ รวมถึงแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบินให้ทราบก่อน 7 วัน โดยผู้ที่จะขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นคนสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และเป็นผู้มีลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดตัวเอง
(สำหรับใครที่สนใจเกี่ยวกับกฎหมายพลุ และดอกไม้เพลิง อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.parliament.go.th/…/article_20181101140532.pdf )
เหตุการณ์นี้นำมาสู่การตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบทางสังคมของผู้เฉลิมฉลอง และการทำงานของหน่วยงานรัฐ ไปจนถึงทางโรงแรม ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เต็มๆ ว่าปล่อยให้เกิดการจุดพลุเช่นนี้ได้อย่างไร และนี่เป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น หรือชาวบ้านต้องอดทนกับการฉลองส่วนตัวที่กระทบต่อชุมชนมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้รับพื้นที่ในการเรียกร้องเท่าที่ควร
อ้างอิงจาก
https://www.parliament.go.th/…/article_20181101140532.pdf
https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_6455598
https://www.matichon.co.th/entertainment/news_2778454
https://www.thairath.co.th/entertain/news/2116727