ไม่เพียงแค่ใช้ซ้ำ แต่สามารถนำกลับมา ‘กิน’ ได้ใหม่ ? กลุ่มนักวิทยาศาสตร์นำขยะพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นขวด หรือถุงบรรจุสิ่งต่างๆ มาเข้ากระบวนการสกัดสารร่วมกับแบคทีเรียอีโคไล (E.coli) ก่อนจะสามารถสร้างรสชาติ ‘วานิลลา’ จากขยะรีไซเคิลได้สำเร็จ!
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในประเทศสกอตแลนด์ พบวิธีการเปลี่ยนชิ้นส่วนพลาสติกที่ผ่านการทำความสะอาดอย่างดีสำหรับรีไซเคิล ให้กลายเป็น ‘วานิลลิน’ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในการสร้างรสชาติ และกลิ่นของวานิลลา โดยใช้แบคทีเรียอีโคไลเป็นตัวช่วย
สำหรับกระบวนการเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นรสชาติ ทำได้โดยการย่อยสลายพลาสติกพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Polyethylene Terethphalate : PET) ลงในส่วนประกอบ กรดเทเรฟทาลิก และเอทิลีนไกลคอล จากนั้น กระบวนการหมักของจุลินทรีย์ที่ใช้แบคทีเรียอีโคไล จะเปลี่ยนกรดเทเรฟทาลิกให้เป็นวานิลลิน สำหรับอัตราความสำเร็จ งานวิจัยระบุว่าอยู่ที่ 79%
อธิบายคร่าวๆ ก่อนว่า วานิลลิน ที่นิยมใช้ในปัจจุบันเป็นวานิลลินแบบสังเคราะห์ เนื่องจากวานิลลินแบบธรรมชาตินั้นมีราคาสูงกว่า ซึ่งปัจจุบันมีการใช้วานิลลินเป็นส่วนผสมของสิ่งต่างๆ ตั้งแต่อาหาร ยา ไปจนถึงเครื่องสำอาง แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ วานิลลินสามารถสังเคราะห์ได้จากสิ่งของตามธรรมชาติหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน เศษเยื่อไม้ หรือแม้แต่มูลของวัว
ดังนั้นการนำพลาสติกมาสังเคราะห์เป็นวานิลลินจึงไม่ได้เรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายมากนัก แต่ถึงเช่นนั้น นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างรสชาติอันหอมหวานจากพลาสติกได้สำเร็จ
สตีเฟน วอลเลซ อาจารย์ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ กล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่ชีววิทยาถูกนำมาใช้ในการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นโมเลกุลที่มีมูลค่าสูงอย่างวานิลลิน ซึ่งมันไม่เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติก แต่ยังช่วยเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าวัสดุตั้งต้นอีกด้วย”
วอลเลซ กล่าวเพิ่มเติมว่า นักวิจัยตั้งใจสร้างวานิลลา เพราะเป็นรสชาติที่ได้รับความนิยม อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่ยอดเยี่ยมในการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบ โดยการวิจัยครั้งนี้จะพุ่งเป้าไปที่การใช้ขวดน้ำเป็นหลัก แต่พลาสติกทั่วไปอย่างบรรจุภัณฑ์อาหาร หรือแม้แต่เศษผ้า ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ วอลเลซกล่าวว่า หลังจากนี้จำเป็นต้องการมีวิจัยเพิ่มเติมว่าวานิลลินที่ได้จากการสกัดนั้น บริสุทธิ์เพียงพอสำหรับการบริโภคหรือไม่ รวมถึงต้องเร่งพัฒนาให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด และหากในอนาคต กระบวนการสกัดนี้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย ทุกการกินไอศรีมรสวานิลลา หรือแม้แต่การฉีดน้ำหอม ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ช่วยลดมวลขยะพลาสติกได้
อ้างอิงจาก
https://www.washingtonpost.com/…/plastic-bottles…/
https://www.fastcompany.com/…/scientist-just-turned…