วันนี้ (23 มิถุนายน) เวลา 11.00 น. เครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย เดินทางมายังรัฐสภา เพื่อยื่นทวงถาม และขอเหตุผลถึงความล่าช้าของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย หลังประชาชนเสี่ยงถูกทรมาน อุ้มหาย และคนผิดยังลอยนวล
เครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย เดินทางมายังสัปปายะสภาสถาน ถนนเกียกกาย เพื่อยื่นเรื่องทวงถาม และขอเหตุผลถึงความล่าช้าของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับสูญหาย โดยขอรับคำตอบภายใน 7 วัน ต่อ ชวน หลักภัย ประธานรัฐสภา โดยมี นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา ออกมารับหนังสือแทน
เครือข่ายญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหายระบุว่า สภาผู้แทนราษฎรได้กำหนดให้ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ของพรรคการเมืองทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างของพรรคพลังประชารัฐร่วมกับพรรคก้าวไกล, ร่างของประชาชาติ, และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมตั้งแต่ เดือนมกราคม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นเวลามาแล้วกว่า 6 เดือน
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯ พบว่า ในเดือนเดียวกัน ร่างกฎหมายชื่อเดียวกันของกระทรวงยุติธรรมได้ถูกเสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของวิปฝ่ายรัฐบาล แต่ด้วยความล่าช้ากว่าหลายเดือน ทำให้ประชาชนยังคงเสี่ยงต่การถูกทรมาน อุ้มหาย และผู้กระทำความผิดยังคงลอยนวลอยู่
สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ถูกซ้อมทรมาน และถูกอุ้มหายจำนวนมาก โดยกลไกกฎหมายปกติในปัจจุบัน ไม่สามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกันกับกฎหมายในระดับนานาชาติ ที่รับรองหลักสิทธิมนุษยชน
ไทยได้ลงนามในอนุสัญญาในระดับนานาชาติเรื่องการอุ้มหาย แต่ไทยเองกลับยังไม่มีการพิจารณาออกกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมาณ และอุ้มหาย ซึ่งการพิจารณากฎหมาย สามารถสืบย้อนไปได้ตั้งแต่ยุค คสช. ทั้งนี้ เครือข่ายฯ จึงยื่นหนังสือขอให้ประธานรัฐสภา บรรจุเรื่องดังกล่าวให้เป็นเรื่องพิจารณาเร่งด่วน
นพ.สุกิจ กล่าวว่า ทางรัฐสภามิได้ละเลยในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ทุกอย่างต้องกระทำไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมแล้ว ซึ่งอยู่ในหมวดเรื่องค้างพิจารณา แต่มีวาระการประชุมพิเศษแทรกมาตลอด ตั้งแต่เริ่มเปิดสมัยประชุม ยืนยันว่าไม่มีการตีถ่วงเวลาหรือ หรือมีผู้มีอำนาจมาแทรกแซงประธานรัฐสภา
นอกจากนี้ ทางญาติของผู้ถูกซ้อมทรมาณ และถูกอุ้มหาย ได้แถลงเพิ่มว่า พวกตนขอให้มีการเร่งรัดพิจารณา เพราะเหยื่อต่างทุกข์ทรมาณ โดยการซ้อมทรมาณเป็นสารตั้งต้นของการอุ้มหาย การยุติทั้งสองเรื่องด้วยร่าง พ.ร.บ. นี้ จะช่วยให้เหยื่อได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังมี สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม เหยื่อผู้ถูกอุ้มหาย ระบุว่า กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยปกป้องให้ทุกคนปลอดภัยจากการถูกบังคับซ้อมทรมาณ และการอุ้มหาย ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรกัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยสัญญาเอาไว้
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/watch/live/?v=3872329086223188&ref=watch_permalink
#Brief #TheMATTER