ยังคงเป็นที่น่ากังวล ต่อการแพร่ระบาด COVID-19 เชื้อกลายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และ เบตา (แอฟริกาใต้) ที่เกิดขึ้นในไทยแล้ว ท่ามกลางการจัดการฉีดวัคซีน ที่ถูกมองว่ายังไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ โดยล่าสุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการแถลงถึงสถานการณ์ล่าสุด
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เดลตาที่มียอดติดเชื้อเพิ่ม 459 ราย รวมเป็นยอดสะสม 1,020 ราย รวมถึงเชื้อกลายพันธุ์เบตาเพิ่มขึ้น 89 ราย เป็นยอดสะสมรวม 127 ราย โดยสายพันธุ์เดลตาเริ่มแพร่ระบาดชุกชุม หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนต่างจังหวัดในภาพรวมยังคงเป็นเชื้ออัลฟา (อังกฤษ) และเชื้อเบตาในพื้นที่ชายแดนใต้
นพ.ศุภกิจ คาดการณ์ว่าในอีก 2-3 เดือน สายพันธุ์เดลตาอาจจะกลายเป็นเชื้อกลายพันธุ์ ที่ระบาดมากที่สุดในกรุงเทพฯ โดย นพ.ศุภกิจ ระบุว่า มีเชื้อเดลตาที่เริ่มไประบาดในต่างจังหวัดแล้ว จากการเดินทางของแรงงานในกรุงเทพฯ กลับไปยังท้องถิ่น โดยทางการได้มีการทำการจับตา เพื่อทำการรับมือต่อไป
ส่วนกรณีการพบเชื้อเบตาในกรุงเทพฯ พบว่าเป็นการเดินทางมาจากคนในนราธิวาส เพื่อทำการเยี่ยมสมาชิกครอบครัว ก่อนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา แล้วพบว่าติดเชื้อเบตา ทั้งนี้ มีการตรวจสมาชิกในครอบครัวในกรุงเทพฯ ก่อนจะพบว่ามีการติดเชื้อ และได้ทำการกักตัว รวมถึงการตรวจหาการติดเชื้อในคนรอบข้างแล้ว
ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าสายพันธุ์เบตา มีการแพร่เชื้อได้ช้ากว่า เพียงแต่หลบหลีกวัคซีนได้ดีกว่า ส่วนสายพันธุ์เดลตายังคงเป็นที่น่าจับตามากกว่า เนื่องจากมีการแพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่า ปัจจุบัน การสืบค้นต้นตอการติดเชื้อทำได้ยากขึ้น อย่างไรก็ดี นพ.ศุภกิจระบุว่า มีข้อมูลการใช้งานจริง จากการฉีดวัคซีน Sinovac พบว่าลดอัตราการป่วยหนักได้ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac ยังปลอดภัยดีทุกราย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมนั้น นพ.ศุภกิจ ระบุว่า ต้องรออัตราผู้ป่วยและผู้ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ โดยทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่สามรถนำตัวเลขผู้ป่วยไม่กี่ราย มาสรุปเป็นข้อมูลที่ชัดเจนได้ ทั้งนี้ต้องรอตัวเลขที่เพิ่มขึ้น เพื่อผลการศึกษาที่ครอบคลุม
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การพบการติดเชื้อเบตาในกรุงเทพฯ 1 ราย ยังคงไม่ใช่เรื่องน่าตกใจมากนัก เพราะตอนนี้ทางการกำลังทำการควบคุมอยู่ โดยขอแค่ให้ประชาชนยังคงมีความระมัดระวัง เช่นการใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง โดยเมื่อประชาชนถึงคิวฉีดวัคซีน ก็ขอให้รีบไปฉีด เพื่ออย่างน้อยให้มีเกราะป้องกันตัวได้ ส่วนการฉีดในเข็มที่ 3 ยังคงต้องรอการทำข้อมูลเพิ่มเติมอีก
นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจระบุว่า วัคซีน Sinovac 2 เข็ม ยังคงรับมือกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้ อย่างไรก็ดี สำหรับเชื้อเบตานั้น Sinovac จะสามารถควบคุมได้หรือไม่ ยังคงต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/DMScNews/videos/516577986251993
#Brief #TheMATTER