วัคซีนที่มีคุณภาพ ยังคงจำเป็นต่อการใช้ฉีด เพื่อเป้าหมายของการกลับสู่ภาวะปกติ ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขของชิลี ได้ออกมาแถลงข้อมูลการใช้งานวัคซีนจริงว่า วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิภาพเหนือกว่า Sinovac ในทุกด้าน
ชิลิขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศ ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน รุดหน้าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยอัตราผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส 12 ล้านคน และครบโดสอีก 10.2 ล้านคน แต่พวกเขากลับต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง เพราะวัคซีนที่พวกเขาเลือกใช้ หรือก็คือวัคซีนของ Sinovac ไม่ได้ช่วยให้อัตราการติดเชื้อในประเทศลดลง
การแถลงของชิลีในครั้งนี้ นำโดย นพ.ราฟาเอล อาราอาวส์ (Rafael Araos) โดยทางการของชิลีได้สรุปว่า ประสิทผลของวัคซีน เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง Pfizer และ Sinovac หลังจากมีการใช้จริงในประเทศพบว่า วัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิภาพสูงกว่า Sinovac ในทุกด้าน
อาราอาวส์ ได้แจกแจงรายละเอียดว่า ระหว่างวัคซีนของ Pfizer และ Sinovac เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะมีอัตราป้องกันการป่วยอยู่ที่ 90.9 เปอร์เซ็นต์ใน Pfizer และ 63.6 เปอร์เซ็นต์ใน Sinovac, อัตราป้องกันการป่วยปานกลางอยู่ที่ 97.1 เปอร์เซ็นต์ใน Pfizer และ 87.3 เปอร์เซ็นต์ใน Sinovac
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อลงไปดูการเปรียบเทียบอัตราการป่วยหนัก จนต้องเข้า ICU จะพบว่ามีอัตรากาป้องกันอยู่ที่ 98.4 เปอร์เซ็นต์ใน Pfizer และ 90 เปอร์เซ็นต์ใน Sinovac ตลอดจนอัตราการป้องกันการเสียชีวิตที่ 91.8 เปอร์เซ็นต์ใน Pfizer และ 86.4 เปอร์เซ็นต์ใน Sinovac
นี่เป็นผลการศึกษา จากข้อมูลการใช้งานจริง เพื่อเปรียบเทียบระหว่างประสิทธิผลของ Pfizer และ Sinovac ซึ่งไม่ค่อยมีประเทศไหน ได้ใช้วัคซีนสองตัวนี้พร้อมกันเป็นวงกว้างมากนัก โดยการศึกษาในครั้งนี้ ช่วยตอกย้ำข้อมูลการศึกษาเปรียบเทียบ ของมหาวิทยาลัยฮ่องกงล่าสุด ที่เปิดเผยว่า Pfizer สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ได้เหนือกว่า Sinovac จากสัดส่วนการฉีดวัคซีน ของทั้งสองผู้ผลิต ในจำนวนประชากรฮ่องกงที่ใกล้เคียงกัน
ชิลีได้มีการฉีดวัคซีนของ Pfizer ในประชากรไปแล้วประมาณ 5 ล้านโดส หลังจากที่ในตอนแรก รัฐบาลได้ทำการตัดสินใจฉีด Sinovac จำนวนมากให้แก่ประชาชน โดยพวกเขาคาดหวังว่าอาจจะช่วยหยุดการแพร่ระบาดลงได้ แต่ผลลัพธ์กลับไปเป็นเช่นนั้น เพราะถึงแม้ว่า Sinovac พอจะมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันการป่วยหนักและการตายได้ แต่มันไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดได้เท่า Pfizer
ทั้งนี้ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้สรุปข้อมูลการศึกษาวัคซีนต่างๆ ในระยะที่ 1/2/3, การวัดหาค่าภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีน, และการดูข้อมูลการใช้งานจริงแล้ว พบว่า
- ใครสามารถฉีดวัคซีนได้ให้ฉีดเลย เนื่องจากวัคซีนทุกตัวมีประสิทธิภาพดีมาก ในการป้องกันไม่ให้ป่วยหนักและเสียชีวิต
- ประสิทธิภาพดีมาก ไม่ได้แปลว่าป้องกัน COVID-19 ได้ 100 เปอร์เซ็นต์
- ผลดีของวัคซีนมีหลายระดับ ตั้งแต่กันติด, กันป่วย, กันป่วยหนัก, กันตาย แต่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด คือ “กันติด” เพราะถ้าไม่มีการติดเชื้อ ก็ไม่มีการป่วย ป่วยหนัก และการตาย
- จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ได้ยืนยันแล้วว่า วัคซีนทุกตัว “ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่ากัน” และยังมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า ซึ่งเป็นความจริงที่ต้องยอมรับ
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/manopsi/posts/10161048398908448
#Brief #TheMATTER