หลังจากหลายปีหลัง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงปัญหา ทั้งตัวเนื้อหาและการบังคับใช้ โดยเฉพาะมาตรา 32 ว่าด้วยการ ‘ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ที่ถูกวิจารณ์ในหลายประเด็น ทั้งมีเนื้อหาคลุมเครือเปิดช่องให้ตีความกว้างขวาง โดยกำหนดอัตราโทษไว้ค่อนข้างสูงแบบไม่ได้สัดส่วน แถมยังเปิดให้จ่ายค่าปรับแทนการพิสูจน์ความถูกผิดในชั้นศาล ไม่รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่จะได้ส่วนแบ่งค่าปรับเป็นเงินรางวัล
นำไปสู่การเคลื่อนไหวล่ารายชื่อของประชาชนและผู้ประกอบการค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย ให้แก้ไขกฎหมายนี้ โดยสามารถรวมได้ 11,169 รายชื่อ และยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2564 ขอให้แก้ไขรวม 13 ประเด็น ไม่ใช่แค่มาตรา 32 เท่านั้น โดยปัจจุบันร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างรับฟังความเห็นในเว็บไซต์ของรัฐสภา (ตั้งแต่ 23 มิ.ย.2564 เป็นต้นมา ซึ่งตามปกติจะรับฟังความเห็น 15 วัน หรือน่าจะถึงวันที่ 8 ก.ค.2564)
– เข้าไปศึกษาและร่วมแสดงความเห็นได้ที่: https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=146
ล่าสุด The MATTER ยังพบว่า กรมควบคุมโรคเองก็เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ของตัวเองเช่นกัน แก้ไขเนื้อหากฎหมายเดิมใน 6 ประเด็น โดยจะเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 25 มิ.ย.-9 ก.ค.2564
– เข้าไปศึกษาและร่วมแสดงความเห็นได้ที่: http://alcoholact.ddc.moph.go.th/act/
อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ที่ประชาชนเสนอสภาฯ ถูกผู้เกี่ยวข้องตีความว่าเป็น ‘ร่างกฎหมายการเงิน’ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 133 วรรคสอง กำหนดว่าจะต้องได้รับ ‘คำรับรองจากนายกรัฐมนตรี’ เสียก่อนถึงจะเริ่มพิจารณาตามกระบวนการได้
ซึ่งที่ผ่านมา มีร่าง พ.ร.บ.ที่ถูกตีความว่าเป็นร่างกฎหมายการเงินและส่งให้นายกฯ พิจารณา แต่เจ้าตัวไม่รับรองแล้ว มากถึง 23 ฉบับ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประชาชน, ร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน, ร่าง พ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า, ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร ฯลฯ
#Brief #TheMATTER