ความสงสัย และข้อมูลหลักฐานต่อประสิทธิภาพวัคซีนเชื้อตายจากจีน ยังคงถูกพูดถึงเรื่อยๆ ว่าไม่สามารถป้องกัน COVID-19 เชื้อกลายพันธุ์ได้ อย่างไรก็ดี ทางการจีนกำลังวางแผนว่า อาจมีการฉีดวัคซีน mRNA ให้แก่ประชากรของพวกเขา ที่เคยได้รับวัคซีนของจีนครบโดสไปก่อนหน้านี้
สื่อของจีนอย่าง ไฉซิน รายงานว่า จีนมีการวางแผนจะฉีดวัคซีน mRNA ที่บริษัทของจีนอย่าง Fosun Pharma ได้ร่วมพัฒนากับ BioNTech จากเยอรมนี เป็นโดสที่ 3 เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนของพวกเขา ที่เคยได้รับวัคซีนของจีนอย่าง Sinovac และ Sinopharm ครบโดสไปก่อนหน้านี้
รายงานระบุว่า จีนจะใช้วัคซีน mRNA ที่มีชื่อว่า Comirnaty ฉีดกระตุ้นให้แก่ประชากร ที่เคยได้รับวัคซีนเชื้อตายไปก่อนหน้านี้ โดย Comirnaty เอง เป็นวัคซีนตัวเดียวกันกับ Pfizer ในสหรัฐฯ และ BioNTecH ในเยอรมนี เนื่องจากจีนได้ทำสัญญา จัดตั้งโรงงานผลิตวัคซีนเทคโนโลยี mRNA และทำการแจกจ่ายเพื่อใช้เองในแผ่นดินใหญ่
วัคซีนของ BioNTecH ยังคงรอการอนุมัติจากรัฐบาลจีน ซึ่งอยู่ที่ขั้นตอนการรับรองวัคซีน ภายใต้หน่วยงานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์แห่งชาติจีน ทั้งนี้ มีหลักฐานบ่งชี้ว่า วัคซีน mRNA ของ BioNTecH มีประสิทธิภาพสูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ในการป้องกัน COVID-19 และ 84 เปอร์เซ็นต์ ในการป้องกันเชื้อเดลตา ที่กำลังระบาดอยู่ในทั่วทุกมุมโลก ณ ตอนนี้
ในประเทศยากจนที่ใช้วัคซีนของจีน แม้แต่กระทั่งประชาชนชาวจีนบางส่วนเอง ยังคงมีความสงสัยต่อประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตาย ที่ผลิตขึ้นเองในจีน โดยจากข้อมูลการวิจัยวัคซีน Sinovac และ Sinopharm เองพบว่า มันมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 50 – 80 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อมูลเหล่านี้ เป็นการทดลองจากวัคซีนตัวเดิม ที่ผลิตขึ้นจากเชื้ออู่ฮั่น และยังไม่มีผลรับรองว่า วัคซีนของจีนทั้งสอง ป้องกันเชื้อเดลตาได้
อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยชิ้นล่าสุดในฮ่องกงพบว่า ค่าภูมิคุ้มกันของแรงงานชาวฮ่องกง ที่ได้รับวัคซีนของ BioNTecH พุ่งสูงขึ้นมากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนของ Sinovac กว่า 10 เท่าตัว โดยถึงแม้ว่าการเปรียบเทียบดังกล่าว จะไม่สามารถระบุประสิทธิภาพโดยรวม แต่มันอาจบอกได้ถึงความแตกต่างของวัคซีน ที่ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาที่ต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการสรา้งภูมิคุ้มกันที่ต่างกัน เนื่องจาก mRNA เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่กว่า และดูเหมือนกับว่าจะตอบรับ กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดีกว่าวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธีการเก่าแก่อย่างวัคซีนเชื้อตาย
หลายประเทศที่นำวัคซีนของจีนมาใช้ เช่น อินโดนีเซีย ชิลี หรือแม้แต่กระทั่งไทยเอง ต่างพบข้อมูลการวิจัยว่า วัคซีนจากจีนไม่มีประสิทธิภาพสูงมากพอ ในการป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 ได้ นอกจากนี้ ในอินโดนีเซียเองกำลังประสบ กับการระบาดของเชื้อเดลตาอย่างหนัก ในขณะที่ก่อนหน้านี้ ชิลีตัดสินใจล็อกดาวน์อีกครั้ง ทั้งๆ มีการฉีดวัคซีนของจีนในอัตราที่รุดหน้า และครอบคลุมประชากรจำนวนมาก
ไม่ต่างจากไทยที่พบว่า Sinovac ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเดลตาได้ ถึงแม้ว่าจะมีการอ้างว่า สามารถลดอัตราการป่วยหนัก และเสียชีวิตในผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ดี โดยมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่า Sinovac ไม่สามารถผลิตภูมิคุ้มกันได้มากพอ ที่จะป้องกันทั้งเชื้อกลายพันธุ์อัลฟา เดลตา และเบตาได้
การวางแผนฉีดวัคซีน mRNA เพื่อเป็นวัคซีนกระตุ้นให้แก่ประชาชนในจีน ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายของจีนไปก่อนหน้านี้ ยิ่งชูประเด็นความสงสัย ต่อประสิทธิภาพของวัคซีนอย่าง Sinovac และ Sinopharm อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจีนจะมีการประกาศว่า พวกเขาได้ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 1.4 พันล้านโดส และสถานการณ์ในจีนจะดูเหมือนปกติขึ้น แต่จีนยังคงไม่มีแผนที่จะเปิดพรมแดนเลย จนกว่าจะถึง ค.ศ.2022
อ้างอิงจาก
https://asia.nikkei.com/Spotlight/Caixin/China-to-use-BioNTech-vaccine-as-booster-shot-sources-say
https://thediplomat.com/2021/07/report-china-plans-biontech-booster-for-its-population/
https://thematter.co/brief/149147/149147
#Brief #TheMATTER