สหราชอาณาจักร นับเป็นหนึ่งในประเทศที่ระบบการสาธารณสุข ก้าวหน้าเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งมันช่วยให้ประชาชนของเขา เข้าถึงการรักษาได้อย่างดี เช่นตัวอย่างในเรื่องนี้ เมื่อชายคนหนึ่งสามารถเดินทางกลับบ้านได้เป็นปกติ หลังเขาเข้านอนรักษาตัวโรงพยาบาลกว่า 203 วัน จากการติด COVID-19
ฌอน ฮันต์ ครูคนหนึ่งในสหราชอาณาจักร วัย 58 ปี สามารถเดินทางกลับบ้านได้แล้ว หลังเขาเข้ารับการรักษาตัว ในโรงพยาบาลนอร์ฟอล์ก และ โรงพยาบาลนอร์วิช กว่า 203 วัน โดยเวลากว่าครึ่ง เป็นการนอนรักษาตัวในห้องผู้ป่วยวิกฤต
ตลอดระยะเวลากว่า 203 วัน ครอบครัวของฮันต์ ถูกแพทย์ผู้รับผิดชอบ เชิญตัวมาให้กล่าวคำบอกลาแก่ฮันต์กว่า 3 รอบ เนื่องจากอาการของเขา ที่แย่ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดวิกฤต และดูเหมือนกับว่าเขาจะผ่านมันไปไม่ได้ ฮันต์กลายเป็นผู้ที่ได้รับการรักษา ในโรงพยาบาลนานที่สุด เท่าที่เคยมีคนไข้นอนรักษามา
ฮันต์ถูกใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอดเวลา โดยแพทย์พิจารณาว่า เขาไม่น่าเอาชีวิตรอดจากอาการวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ เจนนี่ ภรรยาของฮันต์ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “พวกเขาส่งที่ปรึกษาด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองมาหาฉัน และเธอบอกกับฉันตลอดเวลาว่า กระบวนการต่างๆ จะเป็นเช่นไร มันมียาตัวไหนบ้างที่จะช่วยทำให้เขาหมดความทรมาณไปในท้ายที่สุด”
“ฉันยังไม่พร้อมจะเจอคุณ ฉันยังไม่พร้อมที่จะปล่อยเขาไป” เจนนี่กล่าวกับที่ปรึกษาด้านการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง เช่นเดียวกันกับฮันต์ ที่คิดเสมอว่า เขาอาจจะตายได้ทุกเมื่อ อย่างคำพูดที่แพทย์บอกกับเขาว่า เขาอยู่ใกล้กับความตายเพียงแค่นิดเดียว
“ฌอนอยู่ใกล้กับความตายเพียงนิดเดียว เขามีภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายส่วน ด้วยอาการหนักหลักๆ 2 โรค คือ โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน และ COVID-19” นพ.บาชคาร์ คูมาร์ แพทย์ผู้รับผิดชอบรักษาฮันต์กล่าว “ในขณะที่เราเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ กับการต่อสู้ในครั้งนี้ เราเชื่อเสมอว่า เราสามารถทำให้เขารอดผ่านมันไปให้ได้”
ฮันต์กล่าวถึงความสำคัญ ของการฉีดวัคซีนว่า “ความเสี่ยงของการที่ยังไม่ได้ฉีด ส่งผลอย่างใหญ่หลวงมากๆ” โดยหลังออกจากโรงพยาบาล ฮันต์ที่รักทั้งการกินและการเต้น ยังคงต้องใช้เครื่องช่วยเดิน แต่เขากล่าวว่า เขาเตรียมตัวจะกลับไปเต้นอีกครั้งในเร็วๆ นี้
อ้างอิงจาก
https://interactives.commonwealthfund.org/2017/july/mirror-mirror/
#Brief #TheMATTER